ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555

กับดักรายได้ชั้นกลาง

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

   ช่วงสองเดือนมานี้ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่รักที่สนใจติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นไปทางด้านเศรษฐกิจ อาจคุ้นเคยได้ยินศัพท์แสง กับดักรายได้ชั้นกลาง(Middle Income Trap)เพราะมีข่าวองค์กรด้านการเงินระหว่างประเทศ อย่างน้อย 2แห่ง คือ ธนาคารโลก (World Bank) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB)ได้ออกมาเตือนประเทศกำลังพัฒนาหน้าใหม่ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกให้ระมัดระวัง กับดักที่ว่านี้หมายถึงความยากลำบากของประเทศกำลังพัฒนาหน้าใหม่ ในอันที่จะถีบตัวยกระดับการพัฒนาให้ไล่ทันบรรดาชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่พัฒนาและรวยไปก่อนหน้าแล้ว ว่ากันว่า การพัฒนาให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตจากสังคมที่พึ่งพาการเกษตร มาเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ในช่วงแรกๆ นั้นไม่ยาก ขอแต่เพียงให้มีวัตถุดิบ ทรัพยากรธรรมชาติ แรงงานราคาถูก เครื่องจักรสมัยใหม่และแหล่งทุนจากนักลงทุนภายนอกเข้ามาเกื้อหนุน ก็สามารถยกระดับตัวเองจากประเทศเกษตรกรรมยากจนที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีรายได้ กลายมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม เกิดเป็นตลาดเศรษฐกิจใหม่ที่มีสารพัดโปรเจ็ค เงินทองไหลหมุนเวียนสะพัด ประชาชนลืมตาอ้าปากกันได้ ประเทศที่พัฒนาขึ้นมาได้ระดับนี้มีเยอะแยะ ในเอเชียเราก็เช่น ประเทศจีน ไทยมาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น แต่จากจุดนี้ จะกระโดดไปเป็นประเทศร่ำรวย (High Income Countries)แบบฝรั่งเขา มีน้อยมาก แถวๆ นี้ ที่พอนับว่าเข้าข่ายก็เช่น ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์  ไต้หวัน เกาหลีใต้ และฮ่องกง ที่อาศัยอิงอยู่บนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงจริงๆ 
    ที่ผมชวนท่านผู้อ่านที่รักคุยเรื่องนี้ ขออนุญาตแจ้งให้ทราบว่าไม่ได้จะพาดพิงถึงประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรา แต่จะขอพูดถึงกรณีของประเทศจีน ตามเจตนารมณ์ของคอลัมน์ที่ผมรับผิดชอบอยู่ เวลานี้ ประเด็นเรื่อง กับดักรายได้ชั้นกลางก็กำลังเป็นหัวข้อใหญ่ที่นักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ และรัฐบาลจีน วิตกกังวลกันอยู่ เท่าที่ผมรับทราบ มีงานประชุมระดมสมองหลายต่อหลายครั้ง เพื่อหาแนวทางที่จีนจะต้องเดินในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อให้สามารถกระโดดข้ามกับดักนี้ไปให้ได้ ดูเหมือนจะออกมาเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญสามด้านด้วยกัน ที่สำคัญที่สุดคือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมจีน ยุทธศาสตร์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยิ่งมาช่วงระยะปีสองปีนี้ ตัวเลข GDP ต่อหัวเฉลี่ย ใกล้จะ 5,000 เหรียญสหรัฐเข้าไปทุกที อันเป็นตัวเลขเส้นเขตแดนที่สมมติกันว่าเป็นปราการหลักของกับดัก รัฐบาลจีนก็เลยดูจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องยุทธศาสตร์ที่ว่านี้มากยิ่งขึ้น
         ที่เห็นชัดเจนที่สุด ดูเหมือนจะเป็นการเร่งรัดเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ที่กำลังปูพรมยกเครื่องทั่วประเทศ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันในหมู่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจตะวันตกว่า จีนอาจหลุดพ้นจากกับดักรายได้ชั้นกลาง แต่คงต้องมาติดกับดักหนี้สินเพราะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเกินความจำเป็น ที่ฝรั่งเขาวิจารณ์กันแบบนี้ ก็ใช่ว่าจะไม่มีมูล เพราะในช่วงหลายปีหลังๆ นี้ จีนลงทุนไปกับเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเยอะมาก ตอนนี้จีนมีถนนทางหลวงแผ่นดินสายหลักโยงใยทั้งประเทศมากกว่า 80,000 กิโลเมตร ทั้งที่การจราจรขนส่งในภูมิภาคส่วนใหญ่ของจีนไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมายขนาดนั้น ส่งผลให้จีนต้องสิ้นเปลืองค่าบำรุงรักษาถนนหนทาง มากกว่ารายได้ทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากการสร้างถนน ปัจจุบันจีนมีระบบรถไฟฟ้าใต้ดินที่ใช้งานอยู่ 10 ระบบ แต่กำลังเริ่มแผนงานก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนใต้ดินเพิ่มขึ้นในอีก 28 หัวเมือง รวม 86 เส้นทาง ทั้งๆ ที่หลายเมืองจำนวนประชากรและการขนส่งยังไม่ได้หนาแน่นจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใด จีนเร่งรัดการขยายเส้นทางและระบบรางของรถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อหัวเมืองหลักทั่วประเทศ จนในเวลานี้การแข่งขันกำลังก่อให้เกิดผลร้ายทั้งกับอุตสาหกรรมการบินพานิชย์และการขนส่งทางราง แข่งกันแย่งลูกค้า แข่งกันลดราคา จนส่งผลกระทบต่อรายได้ตามแผนธุรกิจการลงทุนที่ถูกที่ควร
                  ในขณะที่อีกสองยุทธศาสตร์ จีนก็กำลังเร่งทำอยู่ เพียงแต่ว่าการวิจัยทางเทคโนโลยีชั้นสูง และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้น เป็นงานยากที่ท้าทายและเห็นผลช้ากว่ามาก สำหรับผู้บริหารและนักการเมืองในพรรคฯ โครงการแบบนี้ไม่สามารถใช้เป็นผลงานที่จะโชว์ความสามารถเชิงบริหารได้ เมื่อเทียบกับการสร้างถนน สร้างตึก สร้างสะพาน เลยทำให้บรรดาผู้บริหารในท้องถิ่นภูมิภาคของจีน จัดไว้ในแผนงานลำดับต้นๆ ตกเป็นภาระของรัฐบาลส่วนกลางต้องแบกภาระที่จะต้องทำ จีนจะกระโดดพ้น กับดักรายได้ชั้นกลางได้หรือไม่ ก็เลยดูเป็นเรื่องที่จะต้องลุ้นกันมากทีเดียว ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แบบที่จีนเคยทำสำเร็จมาอย่างน่าอัศจรรย์ในช่วง 20 กว่าปีก่อนหน้านี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น