ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ใครทำรถไฟฟ้าในจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
              ช่วงหลังๆนี้ ผมต้องไปเกี่ยวข้องกับเวทีประชุมวิชาการและงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น เหตุด้วยหน้าที่การงานที่เปลี่ยนไป ไม่ได้นั่งสอนหนังสือสบายๆอย่างสมัยก่อน ข้อดีคือได้รับรู้รับทราบเรื่องราวใหม่ๆที่น่าสนใจหรือบางที่ก็น่าตื่นเต้น นอกเหนือไปจากสาขาวิชาการที่ตัวเองร่ำเรียนมา ในเวลาเดียวกันก็มีข้อเสีย คือต้องพลอยปวดหัวกับเรื่องทางวิชาการที่เค้าถกเถียงกัน หลายเรื่องต้องเอากลับมานั่งคิดต่อว่าควรจะเป็นอะไรอย่างไร ใครผิดใครถูก สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ก็มีการชุมนุมของนักวิชาการกลุ่มเล็กที่สนใจเรื่องการปกครองท้องถิ่น ชวนผมไปทานข้าวและพูดคุยในวงสนทนาทางวิชาการแบบสบายๆ เอาเข้าจริงเรื่องบ้างเรื่องเห็นเถียงกันหน้าดำหน้าแดง เครียดกันไปหลายคน โดยเฉพาะประเด็นการจัดบริการสาธารณูปโภคของท้องถิ่น เช่นเรื่องรถไฟฟ้าใต้ดินบนดินตามหัวเมืองสำคัญ ท้องถิ่นควรมีอำนาจจัดได้เลย หรือต้องผูกอยู่กับกระทรวงมหาดไทยอย่างที่เป็นอยู่ ว่าแล้วก็ยกตัวอย่างประเทศในยุโรปและอเมริกาที่ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ ผมเองในฐานะที่รู้น้อยก็เลยฟังอย่างเดียว ไม่ได้รวมถกเถียงแสดงความคิดเห็นใดๆ แต่หวยมาออกที่ผมจนได้ เมื่อมีผู้ถามขึ้นว่าในประเทศอื่นๆแถบเอเชียเช่นจีนที่มีรถไฟฟ้าใต้ดินเยอะแยะ ใครเป็นผู้ดำเนินการ รัฐบาลกลางหรือรัฐบาลท้องถิ่น ผมก็ตอบไปสั้นๆเท่าที่พอทราบ แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านก็ไม่รู้สึกพอใจในคำตอบของตัวเองเท่าไรนัก เลยไปทำการบ้านค้นคว้าหาเอาเพิ่มเติม จากเว็บไซต์ของรถไฟฟ้าใต้ดินนานาชาติ และเว็บอื่นๆของจีน เลยนำเอาการบ้านที่ทำ มารายงานท่านผู้อ่านที่รักในคอลัมน์นี้ด้วย
         หากไม่นับรถไฟปรกติและบรรดารถไฟฟ้าความเร็วสูงที่วิ่งระหว่างเมือง ประเทศจีนเวลานี้ มีรถไฟฟ้าที่วิ่งบริการทั้งใต้ดินบนดินอยู่ด้วยกันทั้งหมด13หัวเมือง(ไม่นับฮ่องกง) อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก34หัวเมือง(37ระบบ) บรรจุเข้าแผนจะดำเนินการก่อสร้างในอนาคตอันใกล้อีก16เมือง(19ระบบ) ทั้งหมดนี้ดำเนินการโดยรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละเมือง หลายแห่งเป็นการลงทุนร่วมระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับเอกชนโดยการแบ่งปันรายได้กัน ในบรรดาระบบรถไฟฟ้าขนส่งในเมืองที่เปิดให้บริการทุกเส้นทางนี้ ต้องนับว่ารถไฟฟ้าใต้ดินของมหานครปักกิ่งเก่าแก่ยาวนานกว่าเพื่อน และอาจเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบให้เมืองอื่นๆพัฒนาตาม ปัจจุบันมีระบบเส้นทางรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดินในเครือข่ายการขนส่งมวลชนที่จัดโดยรัฐบาลมหานครปักกิ่งอยู่ทั้งหมด15เส้นทาง ลงทุนและบริหารการเดินรถโดยรัฐบาลมหานครปักกิ่งภายใต้วิสาหกิจ Beijing Mass Transit Railway Operation Corp. อยู่13เส้นทาง ร่วมลงทุนและบริหารการเดินรถกับเอกชนบริษัท Beijing MTR Corp. จากฮ่องกง 2เส้นทาง ราคาค่าโดยสารตลอดสาย2หยวน (ไม่ว่าต่อกี่สายกี่สถานีตราบเท่าที่ยังไม่โผล่ขึ้นมาข้างบน) ยกเว้นรถไฟฟ้าสายด่วนสนามบินเก็บ25หยวน
         เริ่มแรกทีเดียวในปี ค.ศ.1953เมื่อสำนักวางแผนและการผังเมืองมหานครปักกิ่งเสนอโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินนั้น มีที่มาจากข้อเสนอแนะของกลุ่มที่ปรึกษาจากสหภาพโซเวียต สดๆร้อนภายหลังวิกฤตการณ์สงครามเกาหลี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวอย่างจากแรงบันดาลใจในประวัติศาสตร์ ของการใช้ประโยชน์จากระบบเครือข่ายใต้ดินของรถไฟฟ้ากรุงมอสโคว์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อกองทัพเยอรมนีบุกกรุงมอสโคว์ จึงอาจกล่าวได้ว่า จุดเริ่มต้นระบบรถไฟฟ้าใต้ดินของนครปักกิ่งแต่เดิมนั้น มีเป้าหมายไม่เพียงในเรื่องพัฒนาระบบขนส่งมวลชนอย่างเดียว แต่แฝงเหตุผลทางการทหารเข้าไปด้วย อย่างไรก็ดี ความไม่พร้อมทางเทคโนโลยีการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินสมัยใหม่ของจีนในเวลานั้น ประกอบกับปัญหาขัดแย้งทางการเมืองระหว่างจีนกับสหภาพโชเวียตในเวลาต่อมา ทำให้บรรดาที่ปรึกษาและช่างเทคนิคชาวรัสเซียเดินทางกลับประเทศ โครงการต้องล่าช้าไปอีกหลายปี จนท้ายที่สุดได้รับการอนุมัติแผนโดยท่านประธานฯเหมา ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1965 ระบบเส้นทางเดินรถชุดแรกเริ่มลงมือก่อสร้างวันที่ 1 กรกฎาคม 1965 เสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1969 ทันฉลองครบรอบ 20 ปี การสถาปนาจีนใหม่ ระยะทางรวม 21 กิโลเมตร มี16สถานี การบริหารควบคุมการเดินรถดำเนินการโดยหน่วยงานพิเศษของรัฐบาลกลาง ขลุกขลักเกิดอุบัติเหตุหลายต่อหลายครั้ง เพียงเวลาไม่ถึงปี ระบบการเดินรถทั้งหมดได้ถูกส่งมอบให้กองทัพปลดแอกแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบดูแล ผู้โดยสารในเวลานั้นมีเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐและคนงานที่ได้รับหนังสือรับรองสถานภาพจำนวนไม่มากนักที่มีสิทธิ์ใช้บริการ ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม กิจการของรถไฟฟ้าใต้ดินมหานครปักกิ่งก็ลุ่มๆดอนๆ ตารางเดินรถไม่แน่นอน ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของยุวชนพิทักษ์แดง ระบบก็จะถูกปิด จนไม่สามารถเป็นระบบการขนส่งที่ประชาชนทั่วไปจะพึ่งพาได้
        ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินของปักกิ่งกลับมามีชีวิตชีวาคึกคักอีกครั้ง หลังจากจีนเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิรูปเปิดกว้าง กิจการรถไฟฟ้าใต้ดินได้ถูกส่งมอบให้รัฐบาลนครปักกิ่งเป็นผู้รับผิดชอบพัฒนา ได้มีการจัดตั้งบริษัทการเดินรถไฟฟ้าใต้ดินนครปักกิ่ง มีการลงทุนขยายเส้นทางเพิ่มเติมเป็น27.6กิโลเมตร 19สถานี เปิดเดินรถตามตารางกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น จากที่เคยมีผู้โดยสารต่อปีเพียง 8.28ล้านคนครั้ง ในปี1971 กลายมาเป็น72.5 ล้านคนครั้ง ในปี1982 และเมื่อมีการเปิดใช้สายทางเส้นที่2ในปลายปี1984อีก16.4กิโลเมตร ผู้โดยสารในปี1985ก็เพิ่มขึ้นเป็น105ล้านคนครั้ง ภายหลังการเปิดให้ผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศเข้ามาร่วมพัฒนาระบบ ได้มีการขยายเส้นทางเพิ่มเติมและสถานีกว้างขวางมากยิ่งขึ้น เมื่อปี2011ที่ผ่านมา ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินมหานครปักกิ่ง ให้บริการผู้โดยสารทั้งสิ้นกว่า2,180ล้านคนครั้ง วันที่มีผู้โดยสารมากที่สุดในประวัติการณ์คือวันที่9 กันยายนปีที่แล้ว มีผู้โดยสารเข้าใช้บริการวันเดียวมากถึง7.57ล้านคนครั้ง ภายในสิ้นปีนี้ความยาวเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินทั้งหมดของมหานครปักกิ่งคาดว่าจะขยายเป็น420กิโลเมตร
                 การบ้านที่ผมไปค้นข้อมูลมาตอบเพื่อนๆในวงสนทนาเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว อย่างน้อยบอกอะไรเราสองเรื่อง หนึ่ง ท้องถิ่นน่าจะต้องรับผิดชอบเรื่องแบบนี้ สอง ถ้าไม่อยากเจ๊งให้เอกชนร่วมทำเถอะครับ อย่าเหมาไว้เองเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น