ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ทายาทสองนคราจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

       สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเด่นๆหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องน่าติดตามน่านำมาเล่าทั้งสิ้น เช่นงานมอเตอร์โชว์ใหญ่ยักษ์ของจีน ข่าวการเมืองที่กำลังโด่งดังข้ามเดือนประเด็นท่านอดีตรัฐมนตรีโป ซีไหล เม้าท์กันไม่เลิกไปทั่วบ้านทั่วเมืองติดต่อกันหลายเดือน ข่าวการจัดอันดับทางธุรกิจของนาย หู หรุ้น ที่ผมเคยนำเสนอไปครั้งหนึ่งเมื่อปีกลาย ทำให้เลือกไม่ถูก จนท้ายที่สุดมาสะดุดเข้ากับหน้าปกนิตยสารปักกิ่งรีวิว เรียงต่อกันสองฉบับ นำเสนอเรื่องราวค่อนข้างขัดแย้งกันอยู่ ดูแล้วเลยเกิดคิดต่อไปไกล อดไม่ได้จะขอนำมาเป็นประเด็นพูดคุยเปรียบเทียบให้ท่านผู้อ่านที่รักได้คิดต่อในสัปดาห์นี้ อาศัยลอกเลียนงาน “สองนคราประชาธิปไตย” ของท่านอาจารย์อเนก เหล่าธรรมทัศน์ มาจั่วหัวเป็น สองนคราจีน
                      เรื่องราวขึ้นหน้าปกที่ว่าขัดๆกันก็คือ ปกนิตยสารปักกิ่งรีวิว ฉบับสัปดาห์ที่แล้วขึ้นปกปัญหาทายาทรุ่นที่สองของบรรดามหาเศรษฐีจีน มาฉบับสัปดาห์นี้ ปกนิตยสารเดียวกันตั้งประเด็นปัญหาสังคมเกษตรจีนขาดแคลนทายาทมาสานต่องานในไร่นา สองเรื่องนี้ดูจากข่าวล้วนแล้วแต่กำลังเข้าขั้นวิกฤติ  ผมจะขอขยายความในส่วนภาคการเกษตรก่อน เมื่อปีที่ผ่านมาประเทศจีนต้องนำเข้าอาหารในส่วนธัญพืชหลักกว่า 61ล้านตัน เมื่อดูในภาพรวมแล้ว จีนมีความสามารถในการผลิตอาหารได้เองภายในประเทศไม่ถึงร้อยละ90 ทั้งๆที่เป็นเวลากว่า5ปีมาแล้ว ที่ประเทศจีนตั้งเป้าว่าจะต้องสร้างเสถียรภาพทางอาหาร เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการผลิตธัญพืชภายในประเทศให้ได้เต็มร้อย แต่หลายปีมานี้ต้องยอมรับว่าจีนยังทำไม่ได้ แม้ว่าที่ผ่านมาปัญหาอุปสรรคต่างๆที่บันทอนกำลังผลิตในภาคเกษตรจะได้รับการแก้ไขไปตามลำดับ เช่นการออกกฎหมายควบคุมอนุรักษ์การใช้ที่ดินภาคเกษตร การส่งเสริมเทคโนโลยีและเครื่องจักรการผลิตสมัยใหม่ การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกี่ยวกับสายพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูง การจัดรูปที่ดินเพื่อการชลประทานและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ปัญหาสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ดูเหมือนผ่านมาหลายปีแล้วก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ คือปัญหาเรื่องบุคลากรในภาคเกษตร ผมจำได้ว่าในคอลัมน์นี้ ผมได้เคยนำเสนอปัญหาทางภาคเกษตรของจีนไปแล้วไม่น่าจะต่ำกว่าสองครั้ง ทั้งๆที่ปัจจุบันจีนสามารถสงวนพื้นที่เกษตรชั้นดีทั้งประเทศได้ถึง120ล้านเฮกตรา (1เฮกตราเท่ากับ6 ไร่ 1งาน) แต่กลับไม่สามารถหาเกษตรกรอาชีพไปทำอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
                  คำถามจึงอยู่ที่ว่าเกษตรกรจีนหายไปไหน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเกษตรกรจีนหดหายไปตามสภาพของชีวิตชนบทจีน กล่าวคือเมื่อครัวเรือนเกษตรกรใดเข้าสู่วัยชราเกินกำลังจะทำงานในท้องไร่ท้องนาได้ โอกาสที่จะมีลูกหลานมาสืบต่ออาชีพ เป็นไปตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของชุมชนนั้นๆ หากเป็นเขตชนบทห่างไกลความเป็นเมืองยังไม่เข้ามารุกราน แบบนี้ลูกหลานที่มาสืบทอดอาชีพก็ยังเป็นไปได้สูง แต่หากเป็นในเขตที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนา ความเจริญของเมืองแผ่มาถึง แรงงานของประชากรหนุ่มสาวในแถบนั้นๆ จะถูกดูดกลืนเข้าสู่ภาคการผลิตอื่น ทำให้เหลือแรงงานลูกหลานที่จะมาสืบต่ออาชีพได้น้อยเต็มที่ เท่าที่ตัวผมเองได้มีโอกาสไปศึกษาทำวิจัยอยู่ในประเทศจีน เมื่อสอบถามพูดคุยในประเด็นนี้กับชาวนาจีนตามพื้นที่เกษตรดั้งเดิมในชนบทที่เป็นรอยต่อกับเมืองที่กำลังขยายคุกคามเข้ามา ทำให้พอจะเข้าใจได้ว่าพ่อแม่ที่เป็นเกษตรกรเอง ก็ไม่ได้คาดหวังหรืออยากให้ลูกต้องเข้ามาสู่อาชีพที่ลำบากแสนเข็ญ แบบเดียวกับที่ตนเองต้องผจญมา มองจากมุมของชาวไร่ชาวนาจีน ความเจริญและความเป็นเมือง จึงไม่ใช่ภัยคุกคามต่อวิถีชีวิตครัวเรือนของตน แต่คือทางเลือกทางออก แห่งการหลุดพ้นจากความยากลำบากของชีวิต และถือเป็นช่องทางยกระดับคุณภาพและฐานะครอบครัว เรื่องแบบนี้ก็เคยเกิดและกำลังเกิดอยู่ในประเทศไทย  ทว่าเมื่อมองในภาพรวมของประเทศจีนในแง่ความมั่นคงทางอาหาร ปรากฏการณ์นี้ต้องถือว่าน่ากลัวและเป็นเรื่องใหญ่

                    ในอีกด้านหนึ่งของสังคมจีน นับตั้งแต่จีนปฏิรูปเปิดกว้างในช่วงต้นทศวรรษที่1980 เศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างไม่หยุดหย่อน ได้สร้างผู้ประกอบการและเศรษฐีรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับกลุ่มทุนในยุคจีนเก่า(ก่อน1949) หรือที่เรียกกันว่ากลุ่มเศรษฐีใหม่ของจีน ตัวเลขจะเป็นเท่าไรนั้นพูดยาก แล้วแต่ว่าจะวัดกันด้วยมูลค่าสินทรัพย์มากน้อยแค่ไหน แต่หากเอาตามตัวเลขของนายหู หรุ่น (ฝรั่งที่เข้าไปตั้งรกรากทำงานเปิดบริษัทด้านข้อมูลเศรษฐกิจ และจัดอันดับเศรษฐีอยู่ในประเทศจีน ซึ่งผมเคยเขียนเล่าไปแล้วก่อนหน้า) จำนวนครัวเรือนที่จัดว่าเป็นมหาเศรษฐีของจีน น่าจะมีไม่ต่ำกว่า6-7พันครัวเรือน 30กว่าปีผ่านไป นักธุรกิจจีนรุ่นบุกเบิกเหล่านี้ ต่างก็กำลังก้าวเข้าสู่วัยปลดประจำการ หรือไม่ก็ปลดไปเรียบร้อยแล้ว แวดวงเศรษฐกิจจีนในระดับสูง รวมทั้งในระดับกลางด้วย กำลังอยู่ในวิกฤติการเปลี่ยนผ่านผู้กำหนดชะตากรรมกลุ่มใหม่ที่ทยอยเข้ามารับช่วงกิจกรรม อะไรที่เคยเป็นจุดแข็งจุดเด่นของนักธุรกิจจีนรุ่นบุกเบิก เช่น ความอดทน ความกล้าได้กล้าเสีย ความมุมานะฯลฯ  มาบัดนี้สถานการณ์ดูเหมือนกำลังเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง เพราะทายาทรุ่นใหม่ที่เข้ามารับช่วง เป็นคนวัยหนุ่มสาวที่มีการศึกษาระดับปริญญาโทปริญญาเอกจากต่างประเทศ เติบโตขึ้นในบริบททางเศรษฐกิจสังคมและการเมือง ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากรุ่นก่อนหน้านี้ จนมีคำเปรียบเปรยว่า หนุ่มสาวเหล่านี้ก็เหมือนกล้วยหอม มองจากภายนอกก็ผิวเหลืองเช่นเดียวกับพ่อแม่ แต่พอปลอกเปลือกออกแล้วก็ขาวเหมือนฝรั่งตะวันตก เพราะเรียนมากจากตะวันตก คิดแบบตะวันตก และก็คงจะทำธุรกิจแบบชาวตะวันตกด้วย

                   อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศจีนใน 5-10 ปีข้างหน้า ทั้งในชนบทและในเมือง ทั้งในภาคเกษตรและภาคธุรกิจของจีน จึงเป็นเรื่องน่าสนใจติดตาม สำหรับผม ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหญ่กว่า หรืออย่างน้อยก็ใหญ่พอๆกับเวลาที่เราเฝ้าจับตามองเหล่าผู้กุมอำนาจทางการเมืองของพรรคฯรุ่นใหม่ๆในปักกิ่ง ว่าใครกำลังจะขึ้นมารับช่วงต่อบริหารประเทศจีน ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนี้ คงทำให้ใครต่อใครที่คิดว่าตัวเองได้ศึกษารู้จักประเทศจีนดี ต้องหยุดพิจารณาใหม่ เรื่องราวคงเดาได้ยากเต็มที ว่าความได้เปรียบและความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนที่เคยเป็นมาหลายสิบปี ในอนาคตจะยังคงอยู่ หรือจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น