ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554

แอ๊ดมิชชั่นรวมหรือสอบตรง

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

              

               ท่านผู้อ่านซึ่งมีบุตรหลานในความดูแลที่จะต้องสอบเข้มหาวิทยาลัยในปีนี้  คงกำลังอยู่ในช่วงที่เครียดตามบุตรหลานไปด้วย ยกเว้นแต่บรรดาท่านที่ลูกหลานไปสอบตรงรู้ผลกันแล้วว่าได้ที่โน้นที่นี่  กลุ่มหลังนี้ก็อาจกำลังเครียดอีกแบบหนึ่ง  กล่าวคือได้เคยสัญญาจะตกรางวัลให้ลูกหลานหากว่าสอบติด  มาตอนนี้ก็ถึงเวลาจะต้องแก้บนกับลูกแล้ว ที่เคยสัญญาว่าจะถอยรถใหม่ให้ มาถึงตอนนี้อาจกำลังนึกในใจว่า “ไม่น่าพูดไม่น่าสัญญาเลยยย...” สายไปแล้วแหละครับ การที่ลูกหลานเข้ามหาวิทยาลัยได้ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของครอบครัวที่เดียว หากเปรียบเทียบกับบรรดานักเรียนม. 6 อีกหลายหมื่นคน  ตอนนี้ชะตากรรมจะเป็นอย่างไร ก็ยังต้องรอลุ้นอีกนับเดือน  ยิ่งในช่วงเดือน 2 เดือนที่ผ่านมา  ข่าวการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับภาระที่นักเรียนจะต้องวิ่งสอบหลายรอบหลายแห่ง ตามสถาบันอุดมศึกษาชื่อดังที่ต่างคนต่างจัดสอบตรงเอง ยิ่งทำให้เข้าใจและเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าน่าเครียดน่าเหนื่อยอยู่ไม่น้อย เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศที่ประเทศไทยเรา  วันนี้ผมเลยขออนุญาติเทียบเคียงให้เห็นปัญหาที่กำลังเกิดอยู่ในประเทศจีนเกี่ยวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งหลาย  เรื่องราวของเขาก็เครียดไม่น้อยไปกว่าเรา หรือหากดูจากจำนวนประชากรหลายท่านอาจเห็นว่าน่าจะเครียดกว่าด้วยซ้ำไป



             
            ผมเคยได้นำเสนอสถิติตัวเลขการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และปัญหาอุดมศึกษาของจีนไปแล้วครั้งหนึ่ง เที่ยวนี้ก็มีพัฒนาการเพิ่มเติมมาเล่าสู่ท่านผู้อ่าน  เมื่อไม่กี่วันที่แล้ว มหาวิทยาลัยชั้นนำ 7 แห่งในประเทศจีน ได้จัดแถลงข่าวการจัดทดสอบเพื่อคัดเลือกนักศึกษาเข้าใหม่ประจำปี 2011 นี้ จากที่เดิมใช้ข้อสอบรวมแล้วให้เด็กวิ่งสมัครตามมหาวิทยาลัยต่างๆ มหาวิทยาลัยทั้ง 7 แห่งนี้ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยเป่ยไฮ่ มหาวิทยาลับปักกิ่งนอร์มอล(วิทยาลัยครูปักกิ่งเดิม) มหาวิทยาลัยฟู่ต้าน มหาวิทยาลัยหนานไค มหาวิทยาลัยเซี่ยะเหมิน และมหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกง  ทั้ง 7 แห่งถือว่าเป็น 7 สุดยอดความใฝ่ฝันของเด็มมัธยมปลายทุกคนในประเทศจีนก็ว่าได้ ที่ผ่านมาอัตราการแข่งขันสมัครเข้าสูงมากๆ  จนเป็นปัญหาให้กับแต่ละมหาวิทยาลัย การประกาศร่วมมือกันจัดสอบเพิ่มต่างหากอีกหนึ่งการทดสอบ นอกเหนือไปจากที่นักเรียนทั่วไปต้องสอบวิชารวมระดับชาติแล้ว  อาจช่วยแก้ไขปัญหาของมหาวิทยาลัยชั้นนำเหล่านี้ได้ ในทำนองเดียวกันกับที่มหาวิทยาลัยชื่อดังของเราคิดอ่านกันตอนตัดสินใจสอบตรง แต่ในทัศนะของผู้ปกครองและสาธารณชน การประกาศรวมตัวจัดสอบเพิ่มของทั้ง 7 มหาวิทยาลัยจีนเที่ยวนี้เรียกว่างานเข้าทันที่มีผู้คนชาวจีนจำนวนมากทั้งผู้ปกครองและเด็กแห่กันเข้าแสดงความคิดเห็นในสื่ออินเตอร์เน็ตอย่างท่วมท้นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  แต่อย่างที่เราท่านคงพอเดาออก เสียงด่ามีมากกว่าเสียงชมเป็นธรรมดา


                  
                             มองโลกในด้านดี  เด็กที่ตั้งใจจะสอบเข้ามหาวิทยาดังๆ เหล่านี้  จะสบายมากขึ้นเพราะสามารถเตรียมตัวมุ่งสอบเพิ่มในคั้งคราวเดียว แต่สามารถเลือกได้ถึง 7 มหาวิทยาลัยดังมีโอกาสถูกเรียกสัมภาษณ์ได้หลายมหาวิทยาลัยไม่ต้องทะยอยวิ่งสอบทีละแห่งๆ  แต่หากมองโลกในแง่ร้ายทั้ง 7 มหาวิทยาลัยกำลังทำตัวเป็นรัฐอภิสิทธิ์และก่อให้เกิดปัญหาหนักกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพราะก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างมหาวิทยาลัยปักกิ่งและอีก 20 กว่าแห่งก็เคยได้อภิสิทธิ์ในการเปิดโควต้าพิเศษสำหรับเด็กที่มีผลการเรียนมัธยมปลาย ในกลุ่มคะแนนสูงสุด5% แรกในช่วงปี 2003  มาภายหลังจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยอื่นๆ อีก 80 กว่ามหาวิทยาลัยก็พากันขอสิทธิ์พิเศษบ้าง ตอนนี้พอมีการจัดสอบพิเศษนักเรียนจำนวนมากก็เลยอาจเห็นช่องทางเผื่อเลือกทั้งสมัครตรงทั้งใช้สิทธ์ผลการเรียนดี ทั้งขอสมัครสอบพิเศษกลุ่ม 7 มหาวิทยาลัย แน่นอนว่างานนี้ มีทั้งคนได้และคนเสียประโยชน์ แต่ตราบใดที่มหาวิทยาลัยต่างๆยังคงสิทธ์ขาดในการรับเข้านักศึกษาใหม่ เสียงบ่นเสียงประท้วงก็ทำกันเพียงในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต  ยังไม่ถึงกับลุกขึ้นมาต่อว่าเอาเรื่องกัน


               อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหามาแต่เดิมและอาจรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อันสืบเนื่องมาจากการเพิ่มวิธีสอบเข้าอีกหนึ่งช่องทาง  ก็คือการติวสอบหรือโรงเรียนกวดวิชา  ในประเทศไทยเราปัญหาเป็นอย่างไร ในประเทศจีนต้องคูณเข้าไปอีก 10 หรือ 20 เท่าตัว เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสอบเพื่อแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยในการสอบเดือนมิถุนายนปีนี้  ช่วงนี้จะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เด็กนักเรียนทั้งหลายต่างก็วิ่งหาที่เรียนกวดวิชากันหัวหมุนหัวปั่นตามเมืองใหญ่ๆ ทั้งหลายของประเทศจีน ผู้บริหารหลายรายที่เป็นเจ้าของกิจการกวดวิชาต่างก็ต้องเตรียมขยายห้องเรียนและเตรียมตัวครูอาจารย์ผู้สอนเพิ่มตามความต้องการที่มีมากขึ้น  แม้ว่าจำนวนเด็กมัธยมปลายโดยรวมที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยจะลดลง (จากเดิม 10.5 ล้านในปี 2008 เหลือไม่ถึง 9 ล้านคนในปีใหม่นี้)  ผลประกอบการโดยเฉลี่ยของธุรกิจในด้านนี้เติบโตที่ประมาณร้อยละ 30-50 ในแต่ละปี โรงเรียนกวดวิชาบางแห่งมีอาจารย์มากถึง 200 กว่าคนมีรายได้จากค่าสมัครเรียน เฉพาะในช่วงติวสอบเข้ามหาวิทยาลัยสูงถึงกว่า 22 ล้านหยวน  แม้จะยังไม่มีใครแน่ใจว่าตัวเลขค่าใช้จ่ายรวมจะเป็นเท่าไรต่อปีทั่วทั้งประเทศ  แต่ก็คงนึกภาพออกว่า เป็นธุรกิจที่ไม่ธรรมดาเลย


                 
               ใครที่คิดว่าบ้านเรามีปัญหาเยอะเรื่องสอบเข้ามหาวิทยาลัยอาจรู้สึกสบายใจขึ้น หากได้มีโอกาสรับรู้รับทราบปัญหาทำนองเดียวกัน ที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองในประเทศอื่นๆ  ผมก็ไม่ได้คิดจะแก้ตัวแทนมหาวิทยาลัยในประเทศไทยหรอกครับ  เพียงแต่อยากจะบอกว่ามันคงแก้ไขกันไม่ได้ง่ายๆ ตราบเท่าที่ยังมีค่านิยมอยากเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดัง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น