ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554

สถานการณ์พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศจีน

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ล่วงเข้ามาเป็นวันที่ 13 แล้ว นับแต่เกิดเหตุธรณีพิบัติและคลื่นยักษ์ถล่มสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้คนในประเทศญี่ปุ่น ตามมาด้วยปัญหาที่เกิดจากโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิม่า ผมขอร่วมไว้อาลัยต่อความสูญเสียของพี่น้องเพื่อนร่วมโลกชาวญี่ปุ่นในครั้งนี้ และขอเชิญชวนท่านผู้อ่านได้ร่วมกันแสดงน้ำใจของชาวไทย ในฐานะที่ญี่ปุ่นเป็นมิตรประเทศที่ใกล้ชิดผูกพันกับเรามากเป็นลำดับต้นๆ ชาติหนึ่ง ทราบว่าหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยทั้งรัฐและเอกชนต่างก็ได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาค เพื่อรวบรวมน้ำใจของชาวไทยเราส่งต่อไปให้พี่น้องชาวญี่ปุ่นที่กำลังเดือดร้อนกันอยู่ ใครใกล้ที่ไหนสะดวกที่ไหนก็เชิญเลยครับ
ผลกระทบจากเหตุการณ์ในประเทศญี่ปุ่น เฉพาะหน้าก็คงสร้างความตระหนกและเศร้าเสียใจให้แก่ผู้คนทั่วโลก น้ำใจและความช่วยเหลือจากนานาชาติที่หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นในคราวนี้ คงสะท้อนให้เห็นระดับความรุนแรงของภัยพิบัติ ที่ไม่เพียงกระทบต่อชาวญี่ปุ่น แต่ยังรวมถึงชาวโลกโดยทั่วไปที่ได้รับรู้ข่าว ผลกระทบในระยะกลางที่จะตามมา ก็คงหนีไม่พ้นความห่วงใยที่จะมีต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และผลกระทบจากการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีที่กระจายออกมาจากการระเบิดของโรงไฟฟ้า


แต่ที่ผมจะชวนท่านผู้อ่านพูดคุยในวันนี้ เป็นเรื่องผลกระทบเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในประเทศจีน และสถานการณ์พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศจีน อันสืบเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับโรงผลิตไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในฟูกูชิมาของญี่ปุ่น ที่ผ่านมาจีนเองเจอกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวไม่น้อยไปกว่าญี่ปุ่น ก่อนหน้าการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 11 มีนาคมในญี่ปุ่น จีนก็เพิ่งเจอแผ่นดินไหวรุนแรงในยูนนานไปหมาดๆ ก่อนหน้าญี่ปุ่นแค่สองวัน แต่ที่สร้างผลกระทบต่อจีนอย่างมากในวงกว้าง คือเรื่องปัญหาโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิม่า แม้จะอยู่ด้านแปซิฟิกคนละด้านกับชายฝั่งประเทศจีน แต่ก็จัดว่าใกล้กับจีนมากหากวัดจากมณฑลซานตงของจีน ความตื่นตระหนกและข่าวลือต่างๆแพร่กระจายไปทั่วในหมู่ชาวจีนที่อยู่แถบชายฝั่งตะวันออก ทั้งปากต่อปากและร่ำลือกันในอินเตอร์เน็ต นับตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุระเบิดของโรงไฟฟ้าฯ มาจนถึงปัจจุบัน หน่วยงานของรัฐบาลจีนก็เลยงานเข้า จากที่เดิมต้องคอยดูแลการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองระหว่างประเทศในเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง มาตอนนี้ต้องวิ่งไล่จับพวกปล่อยข่าวลือเกี่ยวกับผลกระทบของกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น ล่าสุดสดๆ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาก็เพิ่งออกข่าวจับตัวมือแพร่ข่าวลือรายหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองหังโจว ในความผิดเผยแพร่ข่าวเท็จทางอินเตอร์เน็ตว่าน้ำทะเลรอบชายฝั่งมณฑลซานตงปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากญี่ปุ่น แน่นอนว่าไม่ใช่รายแรกและรายสุดท้าย ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวลือเรื่องการใช้เกลือทะเลที่มีสารไอโอดีนอยู่มาก เพื่อป้องกันการรับสารกัมมันตรังสีจากญี่ปุ่น(ที่ลือกันว่าฟุ้งกระจายมาถึงจีนเรียบร้อยแล้ว) ส่งผลให้ชาวจีนจำนวนมากที่เชื่อข่าวลือ แห่กันออกมากว้านซื้อเกลือสมุทรกันไปกักตุนอย่างเอาจริงเอาจัง จนตลาดเกลือสมุทรในจีนปั่นป่วนขาดตลาดต้องขึ้นราคากันเกือบสามเท่าตัว ที่ร้ายไปกว่านั้น ยังปรากฏมีคนปากเสีย(มือบอนด้วยอีกต่างหาก)ไปโพสต์ในอินเตอร์เน็ตว่าโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ของจีนเองก็อาจมีปัญหาตอนเกิดแผ่นดินไหว


ข่าวลือไม่เป็นมงคลประการหลังนี้แหละที่ทำให้ทางการจีนเดือดร้อนเป็นพิเศษ ปัจจุบันจีนมีโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เดินเครื่องทำงานอยู่ 13 โรง กระจายอยู่ใน 4 จุดบริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศ และกำลังก่อสร้างใกล้เสร็จอีก 25 โรง ส่วนใหญ่ที่กำลังสร้างใหม่ก็ยังคงกระจุกตัวอยู่ทางตอนใต้และภาคตะวันออก เพราะไม่สะดวกที่จะขนถ่ายถ่านหินจากภาคเหนือมาผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนพื้นที่ทางใต้ ประกอบกับเป็นพื้นที่บริเวณที่มีอัตราการขยายตัวของความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดของประเทศ อย่างไรดี ตามแผนของการพัฒนาความสามารถในการพึ่งพาพลังงานได้ด้วยตัวเอง จีนมีโครงการจะต้องขยายการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นให้ได้ 70 GW หรือร้อยละ 5ของพลังไฟฟ้าที่ผลิตได้ภายใน คศ.2020(หนึ่งกิ๊กกะวัตต์ = 1,000 เมกกะวัตต์) และให้ได้ 250 GWหรือร้อยละ 16 ของพลังไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดภายในปีคศ.2030 ในปัจจุบันหลายพื้นที่ซึ่งมีอัตราการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูง ไฟ้ฟ้าส่วนใหญ่ที่ใช้เพิ่มขึ้นก็มาจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ตัวอย่างเช่นร้อยละ 20 ของไฟฟ้าที่ใช้ในเขตเศรษฐกิจฮ่องกงได้มาจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์อ่าวต้าหยาในฝั่งจีน เมืองใหญ่อื่นๆของจีนที่กำลังโตวันโตคืน อัตราการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นก็ล้วนได้มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ผลิตโดยกลุ่มสองยักษ์ใหญ่เดิมคือ กลุ่มวิสาหกิจนิวเคลียร์แห่งชาติจีนและกลุ่มบริษัทพลังงานนิวเคลียร์กวางตง และห้ายักษ์พลังงานเกิดใหม่คือ กลุ่มบริษัทหัวเหนิง กลุ่มบริษัทหัวเตี้ยน กลุ่มบริษัทต้าถัง กลุ่มบริษัทเจียงซีนิวเคลียร์ และกลุ่มบริษัทกว๋อเตี้ยน ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ถือหุ้นใหญ่โดยรัฐบาล และอยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการรัฐวิสาหกิจแห่งชาติของจีน(SASAC)


ด้วยความรีบเร่งของแผนการพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์อย่างที่เป็นอยู่ในประเทศจีนปัจจุบัน ทำให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับมาตรการด้านความปลอดภัย แม้ก่อนหน้าเหตุการณ์ที่ฟูกูชิม่า มาตอนนี้ความกังขาและวิตกกังวลก็ยิ่งเพิ่มทวีคูณขึ้นไปอีก เพราะการเร่งรัดโครงการก่อสร้างในหลายกรณี ทำให้ผู้รับเหมาหลักจำเป็นต้องซอยสัญญาว่าจ้างให้ผู้รับเหมาช่วงเข้ามาช่วยก่อสร้าง เกิดเป็นคำถามทั่วไปในหมู่ผู้สังเกตการณ์ตะวันตก ว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านมาตรฐานของโครงสร้างตัวโรงงานในอนาคตได้หรือไม่ ปัญหาน่าปวดหัวที่ตามมาอีกประการหนึ่ง ก็คือความเชื่อมั่นต่ออนาคตของโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ที่อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกเทคโนโลยีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในต่างประเทศของบริษัทจีน คงไม่ต้องบอกหรอกนะครับว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้ เดิมให้ความสนใจในเทคโนโลยีด้านนี้ของจีนอยู่ เวียดนามและประเทศไทยเองก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย แม้เวียดนามยังคงยืนยันเดินหน้า แต่ผมเชื่อว่าอีกหลายประเทศคงต้องถอยไปตั้งหลักกันใหม่ เพราะไม่สามารถฝืนกระแสความรู้สึกวิตกกังวลของสาธารณชนได้ เท่ากับทำให้จีนเสียโอกาสและออกจะเสียศักดิ์ศรีอยู่หน่อยๆ แต่ทำไงได้ละครับ เรื่องแบบนี้ ใครที่ตามข่าวฟูกูชิม่าอยู่ จะบอกให้อย่ากลัวคงยากครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น