ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554

การปฏิรูประบบการคลังท้องถิ่นจีน

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




นักวิชาการทั้งชาวไทยและฝรั่งต่างชาติหลายท่านที่ได้มีโอกาสไปเยือนประเทศจีน ไม่ว่าจะไปแค่ครั้งเดียว หรือไปมาแล้วหลายครั้ง มักตั้งข้อสังเกตและเกิดความประทับใจกับการพัฒนาบ้านเมืองของจีนว่าทำได้รวดเร็วก้าวกระโดดยิ่งนัก อดไม่ได้ก็มักจะนำมาเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาเช่นเมืองไทยเรา ผมเองเจอเข้ากับตัวเองก็หลายครั้ง จนบางทีก็เกิดอาการรักชาติอยากจะตอบเขากลับไปแรงๆ บ้างโดยเฉพาะพวกฝรั่ง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าตัวเราเองจะมีความรู้เกี่ยวกับประเทศจีนมากพอจะไปแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์เขาได้มากน้อยแค่ไหน ในฐานะที่ได้เคยไปมาประเทศจีนอยู่บ่อยพอสมควร ทำให้ผมมีความรู้สึกเอาเองว่าระดับการพัฒนาที่ว่าของจีนนั้น แม้จะรวดเร็วอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ดูเหมือนอาจต้องแยกแยะอยู่พอสมควรว่าเป็นการพัฒนาแบบไหน กล่าวคือหากเป็นการพัฒนาที่ออกไปในแนวใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ดูเหมือนจะยังกระจุกตัวอยู่แต่ในบริเวณหัวเมืองใหญ่ของมณฑลฝั่งตะวันออกเท่านั้น ในขณะที่ถ้าเป็นการพัฒนาสาธารณูปโภคถนนหนทางตึกรามบ้านช่อง อันนี้ก็ต้องยอมรับว่ามีการพัฒนาที่กระจายไปทั่วในทุกๆ ภูมิภาคของจีนจริง ผมเองก็เก็บเป็นข้อสังเกตส่วนตัวอย่างนี้มานานหลายปี ไม่ได้ริอ่านไปวิเคราะห์เจาะลึกข้อมูลอะไรเพิ่มเติมอีก

มาเมื่อต้นสัปดาห์ ผมได้มีโอกาสอ่านเจองานประชุมสัมมนาใหญ่ที่จัดขึ้นในมหานครปักกิ่งประเทศจีน เป็นเวทีสัมนาว่าด้วยการพัฒนาประเทศของจีน จะว่าเป็นควันหลงหรือผลสืบเนื่องมาจากการประชุมประกาศใช้แผนพัฒนาฯ 5 ปีฉบับที่ 12 ของที่ประชุมพรรค ที่เพิ่งผ่านพ้นไปสดๆ ร้อนๆ ก็เป็นได้ งานนี้มีทั้งนักวิชาการฝ่ายจีนและนักวิชาการต่างชาติเข้าไปร่วมประชุมกันมาก จัดเป็นข่าวสำคัญข่าวหนึ่งของสัปดาห์ก็ว่าได้ ผมก็เลยถือโอกาสจะขอนำเอาเรื่องราวมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านให้ได้รับทราบความคิดเห็นและข้อวิจารณ์เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศของจีน และที่สำคัญ หลายเรื่องที่มีการวิจารณ์ในเวทีสัมนานี้เผอิญตรงกับที่ผมเองก็เคยแอบวิเคราะห์อยู่ในใจ ประเด็นสำคัญที่มีการพูดเสนอแนะไว้มากเป็นพิเศษ ประเด็นข้อถกเถียง(หรือจะว่าเห็นขัดแย้งกันก็ว่าได้)ดูเหมือนจะเป็นเรื่องการถ่ายโอนอำนาจทางการคลังให้แก่ท้องถิ่นกับการปฏิรูประบบการคลังของรัฐบาลท้องถิ่นในจีน
เรื่องงบประมาณหรือการคลังท้องถิ่นจีน ว่าที่จริงก็อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือจะบอกว่าผู้บริหารของจีนมองข้ามประเด็นนี้ไป ก็ไม่ใช่เสียทีเดียวนัก แต่สาเหตุใหญ่ที่ยังไม่ได้มีการจัดการรื้อระบบการคลังการงบประมาณในท้องถิ่นของจีน น่าจะเป็นเพราะความอ่อนไหวทางการเมืองในประเด็นนี้ ที่ทำให้รัฐบาลจีนเองยังไม่อยากลงไปแตะ แม้จะรู้อยู่ว่าเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของการพัฒนาประเทศ และเป็นช่องทางให้ผู้บริหารท้องถิ่นในอดีตอาศัยหาเศษหาเลยเอาไปซุกใช้ส่วนตัว ข้อวิจารณ์หรือความรู้สึกทางลบที่มีต่อรูปแบบงบประมาณที่ใช้ในการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ก็คือระบบงบประมาณทั้งหมดของจีนเป็นระบบรวมศูนย์ การจัดสรรงบประมาณโดยเฉพาะในส่วนงบลงทุนที่ไปถึงท้องถิ่นในแต่ละเขต ไม่สอดคล้องกับรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บจากพื้นที่เหล่านั้น หรือพูดอีกแบบก็คือ มีคนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะฝ่ายวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ต่างชาติเห็นไปในทางที่ว่ารัฐบาลกลางของจีนใช้จ่ายเงินไปเพื่อสนองต่อนโยบายส่วนกลาง มากกว่าสนองตอบความต้องการที่แท้จริงของท้องถิ่น หากเป็นเช่นนี้ต่อไปโดยไม่มีการแก้ไขปรับเปลี่ยน การพัฒนาประเทศก็จะยังคงเป็นไปแบบรวมศูนย์ไม่เท่าเทียมและไม่กระจายตัวอย่างที่ควรจะเป็น และเท่ากับเป็นการซ้ำเติมให้พื้นที่ซึ่งมีปัญหาต้องต่อสู้ดิ้นรนเผชิญปัญหาหนักขึ้นเรื่อยๆ ในด้านกลับกัน ผู้ที่สนับสนุนและเห็นด้วยกับการจัดสรรงบประมาณแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ( ซึ่งไม่ต้องเดาก็รู้ว่าเป็นใครกันบ้าง) ให้เหตุผลว่าจีนยังอยู่ในภาวะที่จำเป็นต้องพัฒนาแบบมุ่งเป้า การลงทุนทางเศรษฐกิจหรือทางสังคมจะต้องนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประชาชนและประเทศอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ใช่หว่านเงินกระจายไปทั่ว แม้ในพื้นที่ที่เห็นอย่างชัดเจนว่าจะไม่เกิดผลได้ตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมที่คุ้มค่า ข้อถกเถียงแบบนี้ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านจำนวนมากคงรู้สึกคุ้นๆ เพราะไม่ได้มีแต่ประเทศจีนเท่านั้นที่มีข้อถกเถียงเชิงนโยบายการคลังและการพัฒนาแบบนี้ หลายประเทศทั้งในอดีตและปัจจุบันจำนวนมากก็ยังคงเผชิญกับทางแพร่งที่ตัดสินใจได้ลำบากว่าจะทุ่มเทเงินทองเพื่อการพัฒนาแบบไหน กระจุกแบบหวังผล หรือกระจายเพื่อความเท่าเทียม ผมเชื่อว่าแม้น้ำท่วมโลกก็ยังหาคำตอบได้ยาก





ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้เรื่องการกระจายอำนาจทางการคลังลงไปสู่ท้องถิ่นกลายเป็นเรื่องล่อแหลมก็คือประเด็นอำนาจทางการเมืองและประเด็นสิทธิการมีส่วนร่วมทางนโยบายในท้องถิ่น หากดำเนินการปฏิรูปทางการคลังให้อำนาจการตัดสินใจไปอยู่ในท้องถิ่นหรือกระจายอำนาจการจัดเก็บรายได้ให้แก่ท้องถิ่นโดยอิสระ สิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือความคาดหวังในการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ของผู้คนในท้องถิ่น(นี่ขนาดยังไม่ได้มีการกระจายอำนาจลงไป ยังปรากฏว่ามีคนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยเริ่มแอบคุยกันเรื่องการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นแทนการแต่งตั้งจากส่วนกลางกันแล้ว) ครั้นรัฐบาลจะไม่คิดอ่านเตรียมการอะไรไว้ ภาระที่เพิ่มขึ้นของการทำแผนพัฒนา การจัดวางกำลังคน และการกำกับตรวจสอบที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ก็ทำให้แผนการพัฒนาหลายโครงการ นโยบายจำนวนมากไม่ได้เป็นไปอย่างที่รัฐบาลกลางตั้งเป้าไว้ ปัญหาเฉพาะหน้าที่ผู้บริหารจีนจะต้องตัดสินใจในระดับนโยบาย คือจะเลือกใช้หรือออกแบบระบบการคลังการงบประมาณแบบใหม่อย่างไรที่จะตอบโจทย์ได้ทุกโจทย์โดยไม่ก่อให้เกดผลข้างเคียงทางการเมืองในท้องถิ่น



ดูๆ โจทย์ที่ว่าข้างต้นแล้วก็น่าหนักใจไม่น้อย อีกทั้งทำให้เข้าใจปัญหาการพัฒนาที่รวดเร็วกระจุกตัวเกินไปในบางพื้นที่ของจีนว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ในเวลาเดียวกัน ก็อาจทำให้เราได้ข้อคิดและมองเห็นโจทย์ที่ประเทศไทยมีเกี่ยวกับการพัฒนาในท้องถิ่นเช่นกัน ทำมาก่อนหน้าจีนหลายปี แต่ก็ยังไม่ถึงฝั่งฝันซะที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น