ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

ชนบทจีนกับแนวโน้มบริโภคนิยม

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




ห่างหายเว้นวรรคไปหนึ่งสัปดาห์เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ สัปดาห์นี้ขอรายงานตัวกลับมาทำหน้าที่เหมือนเดิมครับ หวังว่าท่านผู้อ่านทุกท่านคงได้พักผ่อนและร่วมฉลองเทศกาลตามประเพณีอันดีงามของไทยเรา ท่านที่เดินทางไกลไปต่างจังหวัดต่างเมือง ก็หวังว่าคงเดินทางกลับโดยสวัสดิ์ภาพเรียบร้อยครบถ้วน ผมเองก็ไม่ได้ไปไหนไกลหรอกครับ เป็นห่วงกรุงเทพฯ เลยวนเวียนพาครอบครัวเที่ยวอยู่แถวบ้านในกรุงเทพฯ ข้อดีประการหนึ่งของการได้หยุดยาวห้าวันติดต่อกัน ก็คือได้เคลียร์อะไรต่อมิอะไรที่อยากทำแต่ไม่มีเวลา ก็ได้ทำจนเสร็จเรียบร้อยในช่วงหยุดยาวนี่แหละ เวลาที่เหลือก็ตะลุยอ่านหนังสือที่ซื้อมากองไว้ซะนาน อีกทั้งยังได้โอกาสหาข้อมูลเพื่อเตรียมนำเสนอท่านผู้อ่านเพิ่มเติมเป็นพิเศษ
ช่วงที่บ้านเราหยุดยาว โลกก็ยังดำเนินไปอย่างคึกคักเหมือนเดิม ไม่ได้หยุดไปกับเราด้วย ข่าวคราวจากประเทศจีนก็ยังคงมีมากในทุกวัน ผมก็มีโอกาสตุนข้อมูลไว้มากเป็นพิเศษกว่าสัปดาห์อื่นๆ ทำให้พอจะต้องเขียนนำเสนอท่านผู้อ่านในสัปดาห์นี้ ก็เลยออกอาการเลือกไม่ถูก เพราะมีเรื่องราวเยอะเหลือเกิน ตัดสินใจขอนำข่าวเล็กๆ เชิงประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลจีนที่ปรากฏในสื่อเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มาชวนท่านผู้อ่านคุยด้วยในสัปดาห์นี้ครับ




ตามข่าวที่นำเสนอ รายงานว่าผลการสำรวจค่าเฉลี่ยรายได้ของผู้คนในชนบทของจีนเมื่อปี 2010 ที่ผ่านมา ตัวเลขค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 5,919 หยวนต่อหัวต่อปี เทียบกับ 3,255 หยวน ในปี 2005 ในขณะที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจภาคชนบทของจีนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10.3 ในปีที่ผ่านมา เฉพาะในส่วนรายได้ที่มาจากกลุ่มแรงงานที่อพยพมาทำงานในเขตเมืองเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,690 หยวนต่อเดือนในปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณเงินที่ส่งกลับบ้านในชนบทเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว การเพิ่มขึ้นของรายได้ที่เป็นตัวเงินในภาคชนบทของจีนนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ หลายต่อหลายมาตรการด้วยกันในรอบห้าหกปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่นนโยบายยกเลิกการเก็บภาษีภาคเกษตรตั้งแต่ปี2006 นโยบายบริการจัดการศึกษาฟรีซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในชนบท มาตรการเงินอุดหนุนภาคเกษตรที่ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชเศรษฐกิจที่ใช้สายพันธุ์ให้ผลผลิตสูง ตามแผนปรับรูปแบบการผลิตของรัฐบาลจีน(เห็นว่ารัฐบาลจีนเตรียมเงินอุดหนุนของปีนี้ไว้สูงถึง 140,000หยวน) ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงที่เศรษฐกิจยุโรปและอเมริกาประสบปัญหาต่อเนื่องหลายปี ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าคุณภาพสูงของจีน รัฐบาลจีนได้อุดหนุนเพื่อให้ครัวเรือนในชนบทจีนสามารถซื้อหาเครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งอำนวยความสะดวกในครัวเรือน เพื่อดูดซับกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน ทำให้ไม่ต้องถูกผลกระทบจากการส่งออกไปยุโรปหรืออเมริกา จนต้องมีอันปิดโรงงานหรือเลิกจ้างคนงานให้เดือดร้อนเป็นลูกโซ่ต่อเนื่อง



โดยภาพรวม จึงอาจกล่าวได้ว่าทั้งรายได้เฉลี่ยและกำลังซื้อของชนบทจีน ในช่วงระยะเวลาห้าหกปีมานี้ เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และเป็นตลาดดูดซับผลผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมของจีนอย่างสำคัญ ดูเหมือนรัฐบาลจีนเชื่อมั่นในแนวทางดังกล่าวว่ามาถูกทางแล้ว เพราะผู้คนในชนบทคือพลเมืองส่วนใหญ่กว่าร้อยละหกสิบของประเทศ การเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตของประชากรในกลุ่มนี้ จึงเท่ากับเป็นการตอบสนองต่อประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ในข่าวดีก็มักจะมีข่าวร้ายหรือข้อห่วงใยน่ากังวลตามมาด้วยเสมอๆ จะเป็นด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้น หรือเป็นเพราะปัญหารูปแบบการผลิตสมัยใหม่ หรือจะด้วยปัจจัยสมทบอื่นๆ อีกมากก็ตาม ดูเหมือนปัจจุบันรูปแบบการบริโภคของภาคชนบทจีน เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่อาจเป็นปัญหา หรืออย่างน้อยกลายมาเป็นรูปแบบการผลิตและบริโภคที่ต้องพึ่งพาภายนอกมากขึ้นทุกที



จะมองว่าเป็นพัฒนาการหรือเป็นปัญหา ผมเองก็ไม่กล้าฟันธง แต่ก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่อยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตภาคเกษตร ไม่ว่าจะเป็นยุโรปหรืออเมริกาในอดีต ชนบทจีนปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ว่าเฉพาะเรื่องแบบแผนพฤติกรรมการบริโภค จากที่เดิมประชากรจีนกว่าร้อยละ 80 อาศัยอยู่ในชนบทและประกอบอาชีพการเกษตรเป็นหลัก มาปัจจุบันเหลือประชากรเพียงร้อยละ 60 ที่อยู่ในชนบท และแม้ในหมู่ประชากรชนบทกลุ่มนี้ ที่ทำอาชีพเกษตรจริงๆ เหลือไม่ถึงครึ่งที่ยังคงประกอบอาชีพทางเกษตร จากที่เดิมระบบเศรษฐกิจชนบทแยกขาดไม่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตในเมือง กลายมาเป็นผูกพันพึ่งพากับเมืองมากขึ้นทุกที ทั้งในเรื่องแรงงานที่อพยพเข้าไปในภาคอุตสาหกรรม ทั้งในเรื่องบทบาทของเงินที่ใช้หมุนเวียนภายในชุมชนที่เพิ่มมากขึ้น เดิมผู้คนในชนบทบริโภคเฉพาะผลผลิตที่ตัวเองผลิตได้เท่านั้น มาบัดนี้กว่าร้อยละ 65 ของการอุปโภคบริโภคเป็นผลผลิตอุตสาหกรรมหรืออุตสาหกรรมเกษตร ที่ต้องใช้เงินตราซื้อหามาจากภายนอกชุมชนของตน จะกินจะใช้อะไรก็ต้องซื้อดะลูกเดียว กลายเป็นสังคมบริโภคนิยมที่พึงพาตนเองได้น้อยลงไปเรื่อยๆ
การมีเงินมีทองไหลลงไปสู่ชนบท คงต้องบอกว่าเป็นเรื่องดี ยังไงก็ดีกว่าไม่มีเงินแน่ๆ แต่ถ้าปริมาณของเงินที่ไหลไปสู่ชนบท ท้ายที่สุดแล้วต้องไหลย้อนกลับออกไปเพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าอุปโภคบริโภคภายนอก จนไม่เหลือให้ใช้พัฒนาชุมชนในภาคการผลิตที่แท้จริงของชนบท อันได้แก่การพัฒนาภาคเกษตร อย่างนี้คงต้องบอกว่ามีปัญหาแน่ ซ้ำร้ายกว่านั้น เพราะเหตุที่ต้องการเงินสดเพื่อการอุปโภคบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น แรงงานของครัวเรือนภาคเกษตรจำนวนมาก ตัดสินใจละทิ้งกิจกรรมเกษตรไว้เบื้องหลัง แล้วมุ่งหน้าไปแสวงโชคในโรงงานหรือตามไซต์งานก่อสร้าง ปล่อยให้กิจกรรมเกษตรเป็นภาระแก่ผู้สูงอายุในชนบท ทำให้การผลิตภาคเกษตรทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และในระยะยาวก็จะเป็นปัญหาให้รัฐบาลจีนต้องเข้ามาอุ้มลดภาษีลดค่าใช้จ่ายให้เงินอุดหนุนแก่ภาคเกษตร ไม่จบไม่สิ้น เล่าเรื่องเมืองจีนอยู่แท้ๆ ไหงลงท้ายฟังเหมือนเรื่องราวในบ้านเราก็ไม่ทราบได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น