ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

ไล่ที่คนจน

โดย รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



อย่างที่ได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความเมื่อสัปดาห์ก่อน เกี่ยวกับการพัฒนาทางสาธารณูปโภคพื้นฐานในประเทศจีน ตลอดจนการก่อสร้างอาคารสูงที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จนเป็นที่ประทับใจแก่ชาวต่างชาติที่ได้ไปพบเห็น อย่างทางด่วนระหว่างเมืองระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร จีนอาจใช้เวลาไม่ถึงสองปีก็สร้างเสร็จ ทำให้นักท่องเที่ยวอย่างคนไทยเรารู้สึกเกิดอาการอิจฉาและอดไม่ได้ที่จะทำการเปรียบเทียบกับระดับการพัฒนาในประเทศเรา แต่ก็อย่างว่าแหละครับ ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะได้มาแบบสวยหรูดูดีไปทั้งหมด ข้อเสียหรือต้นทุนที่สังคมจีนต้องแบกรับเพื่อแลกกับความรวดเร็วในการพัฒนาก็มีอยู่มาก หนึ่งในนั้นก็คือปัญหาการละเมิดสิทธิ์ปัจเจกบุคคลในนามของความเจริญและประโยชน์ส่วนรวม




ในช่วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านที่สนใจติดตามข่าวสารต่างประเทศเป็นประจำ คงได้ผ่านสายตารับทราบข่าวการไล่ที่คนจนหรือไล่ที่เกษตรกรรายเล็กรายน้อยอยู่เป็นระยะๆ จะว่ามีข่าวทำนองนี้หลุดออกมาเป็นประจำทุกปีก็คงไม่ผิด ปีละหลายข่าวหลายกรณีเลยทีเดียว นี่ยังไม่นับรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่ได้เป็นข่าวดังข่าวใหญ่ ถึงขั้นหลุดออกมานอกประเทศอีกไม่รู้กี่ร้อยกี่พันกรณี อันนี้ว่ากันตามสายตาของชาวต่างชาติที่ติดตามเรื่องจีน แต่หากสอบถามชาวจีนเอง ก็จะพบว่าปัญหาการละเมิดสิทธิ์และการไล่ที่ จัดเป็นปัญหาใหญ่ลำดับต้นๆของสังคมจีนเลยก็ว่าได้ เพราะกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อาจเกิดกับใครก็ได้หากพิจารณาถึงระดับความรวดเร็วของการพัฒนาและขยายตัวของเมืองในประเทศจีน และก็ไม่ใช่เพียงเกิดกับผู้คนในชนบทชานเมืองเท่านั้น แม้ในใจกลางเมืองใหญ่เมืองทันสมัยแบบนครปักกิ่ง เซี้ยงไฮ้ หรือกวางเจา ก็มีโอกาสโดนไล่ที่ได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุว่ามีตึกอาคารที่อยู่อาศัยในเขตเมืองที่ก่อสร้างเมื่อยุคทศวรรษที่1960-1970 เข้าคิวถูกทุบทิ้งเพื่อสร้างอาคารระฟ้าทันสมัยอยู่ตลอดเวลา จะต่างกันก็ตรงที่ผู้อยู่อาศัยเดิมเมื่อถูกไล่ที่แล้วได้รับการชดเชยเพียงพอ หรือได้สิทธิ์เข้าอยู่ในอาคารใหม่เป็นที่พออกพอใจกันหรือไม่ หากไม่ได้รับการชดเชยที่เหมาะสม ความขัดแย้งและความรุนแรงก็จะตามมา ต้องไล่ตีไล่ทุบเอารถไถบ้านไล่กัน จนกลายเป็นภาพข่าวให้เห็นเป็นระยะๆ






ยิ่งในเขตชนบทที่ใกล้กับชานเมืองใหญ่ ภาพของปัญหาก็ยิ่งสร้างความรู้สึกสะท้อนสะเทือนอารมณ์ให้แก่ผู้พบเห็นจากภายนอกสังคมจีน ในขณะเดียวกันก็สร้างความกระอักกระอวนใจแก่รัฐบาลจีนเป็นอย่างยิ่ง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกฎหมายจีนกับการจัดการและการใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นแตกต่างไปจากที่เราคุ้นเคยกันอยู่ กล่าวคือปัจเจกบุคคลของจีนไม่ได้มีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดิน เพียงแต่มีสิทธิ์ในการทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยเท่านั้น ที่ดินทั้งหมดยังเป็นของรัฐ ด้วยเหตุนี้เมื่อมีโครงการพัฒนาที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลในระดับท้องถิ่น จึ่งเป็นเรื่องที่ผู้พัฒนาจะต้องไปดำเนินการทำแผนหรือไปเคลียร์กันเองระหว่างรายใหม่กับผู้อยู่อาศัยเดิม ก่อนหน้านี้ โครงการส่วนใหญ่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐที่มีความรับผิดชอบพอสมควร ประกอบกับระดับการพัฒนายังไม่เข้มข้นมาก ปัญหาก็ยังไม่ปรากฏชัดเจน มาในปัจจุบันโครงการสารพัดที่พัฒนากันอยู่ ดำเนินการโดยเอกชนที่มุ่งแสวงหากำไร และก็แข่งขันกันทำเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเขตเมืองและความต้องการที่อยู่อาศัย ในเวลาเดียวกัน พื้นที่การเกษตรในชนบทจีนก็เป็นแปลงเล็กแปลงน้อยได้ผลผลิตไม่คุ้มค่า มีความจำเป็นต้องจัดรูปที่ดินใหม่เพื่อให้นักลงทุนในกิจการเกษตรสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพการผลิตสูงกว่าเข้ามาแทน ระดับของปัญหาก็เลยขยายบานปลาย จนกลายเป็นปัญหาสำคัญของสังคมจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้




เมื่อประมาณต้นปี 2009 หลังจากที่เกิดข่าวการใช้ความรุนแรงทุบตีไล่รื้อบ้านเรือนประชาชนในเขตเมืองเก่าแห่งหนึ่งในมณฑลเหอหนานโดยบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก รัฐบาลกลางที่ปักกิ่งจึงตัดสินใจตั้งกรรมการยกเครื่องกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการไล่รื้อและการรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของปัจเจกบุคคลไม่ให้ถูกละเมิด ปัญหาใหญ่ที่คณะกรรมการต้องชั่งน้ำหนักประนีประนอมให้ได้ ก็คือจะทำการแก้ไขอย่างไรกับปัญหามากมายมหาศาลของปัจเจกชนรายเล็กรายน้อย ที่อาศัยกระจัดกระจายกันอยู่ในสิ่งปลูกสร้างที่เสื่อมโทรมไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดผังเมืองสมัยใหม่ หรือทำมาหากินทางการเกษตรในที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยที่ไม่มีผลิตภาพ ทั้งหมดนี้ต้องไม่เป็นอุปสรรคหน่วงรั้งการพัฒนาเพื่อประโยชน์ของประเทศและสังคมโดยส่วนรวม คณะกรรมการชุดนี้ก็ใช้เวลาขบคิดจนหัวโตอยู่เกือบสองปี เพิ่งจะได้ข้อสรุปเสนอรัฐบาลเมื่อต้นปีเดือนมรกาคมที่ผ่านมานี้เอง แยกเป็นยกร่างกฎหมายสองฉบับคือ กฎหมายการรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้าง กฎหมายการเวนคืนสิทธิ์ในที่ดินสิ่งปลูกสร้าง และกฎหมายกำหนดมาตรการชดเชยผู้ถูกเวนคืน แม้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะยังไม่เป็นที่พออกพอใจของชาวบ้านชาวนารายเล็กรายน้อย และก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จะนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้ง แต่ก็ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว สาระสำคัญที่อาจเรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุก็คือ มอบอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้เข้าไปจัดการเรื่องการรื้อถอนและการเจรจาค่าชดเชย โดยไม่ให้บริษัทผู้พัฒนาเข้าไปยุ่งเกี่ยว นอกจากนี้ยังห้ามไม่ให้มีการใช้วิชามารประเภทตัดน้ำตัดไฟตัดก๊าซเพื่อกดดันผู้อยู่อาศัย จนกว่าการเจรจาโยกย้ายชดเชยจะเป็นที่ตกลงกันได้ทั้งสองฝ่าย และที่ดูจะเป็นพัฒนาการสำคัญที่สุด คือหากไม่บรรลุผลสำเร็จในการต่อรองค่าชดเชย กฎหมายใหม่กำหนดให้นำเรื่องสู่ศาลยุติธรรมเพื่อขออำนาจในการขับไล่ ไม่เปิดโอกาสให้รัฐบาลท้องถิ่นไล่ที่ตามใจชอบแบบที่ผ่านมาในอดีต
กฎระเบียบใหม่จะเป็นผลอย่างไรต่อการพัฒนาของจีนโดยภาพรวม คงเป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไป แต่ที่แน่ๆดูเหมือนช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ สถานการณ์ยังดำเนินไปแบบเดิมๆ ข่าวการใช้กำลังไล่ที่ก็ยังคงมีอยู่และดูเหมือนจะมีมากขึ้นด้วย อาจเป็นเพราะกลัวกันว่าหากกฎระเบียบใหม่บังคับใช่ การดำเนินการโครงการต่างๆจะมีปัญหาล้าช้า เลยต้องรีบเร่งลงไม้ลงมือกันในช่วงนี้ เดือดร้อนถึงขั้นที่คณะรัฐมนตรีจีนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ต้องออกคำสั่งห้ามไม่ให้รัฐบาลท้องถิ่นรื้อบ้านหรือไล่ที่ชาวบ้านโดยเด็ดขาด หากไม่ได้รับความยินยอม จะสำเร็จหรือไม่ ผมก็จะติดตามรอดูและนำมารายงานท่านผู้อ่านในโอกาสต่อไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น