ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

หนึ่งร้อยปีมหาวิทยาลัยชิงหัว

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์





วันที่ 22 เมษายน คศ.1911 เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยชิงหัว นับมาถึงปัจจุบันก็ครบร้อยปีไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีการจัดงานฉลองครบรอบหนึ่งร้อยปีมหาวิทยาลัยไปอย่างยิ่งใหญ่อลังการ ใช้ห้องประชุมในมหาศาลาประชาชนกรุงปักกิ่งเป็นที่จัดงาน มีประธานาธิบดีหูเป็นประธานในฐานะศิษย์เก่า ในแง่ของความเป็นข่าว ก็อาจไม่ถึงกับจะบอกว่าเป็นข่าวใหญ่ข่าวโตประจำสัปดาห์หรอกครับ แต่ที่ผมเห็นสมควรจะนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านในสัปดาห์นี้ ก็เพราะเห็นว่าตอนนี้กระแสเรื่องปฏิรูปมหาวิทยาลัยของจีนกำลังได้รับความสนใจแลพูดถึงกันเยอะ ในโอกาสนี้ก็เลยจะนำข่าวครบร้อยปีมหาวิทยาลัยชิงหัวมาเกริ่นนำสักหน่อย




นักวิชาการและผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาของไทยเรามักนิยมเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยปักกิ่ง(สถาปนาปีคศ.1898)และมหาวิทยาลัยชิงหัว ในแบบที่เราคุ้นเคยเทียบเคียงจุฬากับธรรมศาสตร์ ทั้งที่จริงแล้วไม่น่าจะเป็นคู่เปรียบเทียบที่เหมือนกันเสียทีเดียว แม้ว่าทั้งสองมหาวิทยาลัยจะเป็นคู่แข่งกันในกลุ่มสันนิบาต 9 มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน(คล้าย Ivy League ของอเมริกา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยเจียวทงแห่งเซี้ยงไฮ้ มหาวิทยาลัยเจียวทงแห่งซีอาน มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง มหาวิทยาลัยฟูต้าน มหาวิทยาลัยนานจิง มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสถาบันเทคโนโลยีแห่งฮาร์บิน) เริ่มแรกนั้นมหาวิทยาลัยชิงหัวก่อตั้งขึ้นจากเงินส่วนเกินที่เหลือจากค่าชดใช้ต่างชาติหลังเหตุการณ์กบฎนักมวย (มิถุนายน คศ.1900) ในชื่อ “สำนักศึกษาชิงหัว” สำหรับฝึกหัดเตรียมนักเรียนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกา อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทุนการศึกษาจากเงินเหลือค่าชดใช้ต่างชาติจากเหตุการณ์กบฎนักมวย จากจุดเริ่มต้นที่ค่อนข้างจะคละคลุ้งไปด้วยบรรยากาศทางการเมืองหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ทำให้ทั้งบุคลากรและศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยแห่งนี้เข้าไปพัวพันกับพัฒนาการทางการเมืองของจีนอยู่เนืองๆ ไม่ด้อยหรือน้อยไปกว่าบุคลากรและศิษย์ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง หลังสงครามปลดปล่อยยุติลงในปี คศ.1949 อธิการบดีและคณาจารย์กลุ่มหนึ่งในขณะนั้น ได้พากันอพยพข้ามไปไต้หวัน และต่อมาร่วมกันจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติชิงหัวขึ้นที่ไต้หวันอีกแห่งหนึ่ง




นับแต่เริ่มต้นศักราชจีนใหม่ 1949 มาถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยชิงหัวเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ในบรรดาศิษย์เก่า 170,000 กว่าคน ชิงหัวได้ผลิตนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชั้นยอดของประเทศเป็นจำนวนมาก ว่ากันว่าในสภาวิศวกรรมแห่งชาติ 1 ใน 5 ของสมาชิกประจำเป็นศิษย์เก่าจากชิงหัว และในสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติมีกรรมการที่เป็นศิษย์เก่าชิงหัวไม่น้อยกว่า1ใน4 รวมทั้งยังมีคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงระดับรางวัลโนเบลอีกด้วย ในแวดวงการเมืองและสมาชิกระดับสูงของพรรคฯ ชิงหัวมีศิษย์เก่าสำคัญเช่น อดีตนายกรัฐมนตรี จู หรงจี ประธานฯ หู จินเทา(วิศวะชลประทาน 1959) ประธานสภา อู๋ ปังกั๋ว รองประธานฯซี จินผิง ฯลฯ ในช่วงยุคสมัยใหม่นับแต่มีการติดต่อร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนานาชาติเพิ่มมากขึ้น มหาวิทยาลัยชิงหัวก็เป็นมหาวิทยาลัยลำดับแรกๆที่บรรดามหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งหลาย เช่น เยล ฮาร์วาร์ด โคลัมเบีย จากฝั่งอเมริกา หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำจากฝั่งยุโรปแห่กันเข้ามาเซ็นสัญญาร่วมมือด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาพลักษณ์ปัจจุบันของชิงหัว จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งและโดดเด่นทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นพิเศษ





มหาวิทยาลัยในประเทศจีน ก็คงคล้ายๆกับที่เป็นในบ้านเราขณะนี้ คืออยู่ในระหว่างการดิ้นรนถูกบีบบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อม จากกระแสเรียกร้องในสองด้าน ด้านหนึ่งคือการปรับตัวเพื่อให้เป็นมาตรฐานเท่าเทียมกับในยุโรปและอเมริกา หรือให้ดีกว่าเก่งกว่าฝรั่ง ต่างคนต่างเร่งผลิตงานวิจัยและผลงานการตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ หรือมีการอ้างอิงในระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น หากดูในแง่ผลสัมฤทธิ์ด้านการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยเป็นภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยชิงหัว อาจจัดได้ว่าอยู่ในอันดับหนึ่งของประเทศจีนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งโดยผลการประเมินภายในและการจัดอันดับจากหน่วยงานนานาชาติ แต่ดูเหมือนเป้าหมายใหม่ของมหาวิทยาลัยชิงหัวสำหรับการก้าวสู่ศตวรรษใหม่ ไม่ได้อยู่ที่จำนวนชิ้นของงานวิจัยที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ แต่มุ่งไปอีกระดับหนึ่งคือเน้นที่คุณภาพและจำนวนครั้งที่ได้รับการอ้างอิงทางวิชาการในระดับนานาชาติ ด้านที่สองที่สังคมเรียกร้องจากมหาวิทยาลัยทั้งที่เป็นชั้นนำและไม่ชั้นนำของจีน ก็คือการทำตัวให้เป็นประโยชน์สอดคล้องกับโจทย์ของสังคมและประเทศชาติ ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากในระยะหลังๆ มหาวิทยาลัยในประเทศจีนถูกกล่าวหาว่ารับใช้ตัวเองและมุ่งสู่การแข่งขันในธุรกิจการศึกษา มากกว่าการรับใช้สังคม ยิ่งระยะหลังมีโครงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยดังๆของฝรั่งทั้งทางด้านการวิจัยและการเรียนการสอนในระดับปริญญาชั้นสูง มีนักวิชาการหรือนักศึกษาต่างชาติเดินไปเดินมาเต็มมหาวิทยาลัย ยิ่งทำให้สาธารณชนเข้าใจไปได้ว่าเป็นกิจกรรมทางวิชาการที่มุ่งแสวงหาเงินหาทอง มหาวิทยาลัยชิงหัวเลยประกาศจุดยืนว่าจะต้องผลิตบัณฑิตที่มีความคิดอ่าน รับผิดชอบต่อสังคมและอนาคตของประเทศชาติ พร้อมๆ กับเป็นผู้พิทักษ์คุณค่าทางสังคมและมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ




ผมชวนท่านผู้อ่านมาพูดคุยเรื่องราวหนึ่งร้อยปีมหาวิทยาลัยชิงหัว ในวันที่บ้านเรามีข่าวมหาวิทยาลัยบางแห่งขายปริญญา ป.บัณฑิต ก็ไม่ได้มีเจตนาอะไรเป็นพิเศษหรอกครับ อย่าเอาไปผูกโยงกันเชียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น