ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

ฟ้าคำรณจากตะวันออกกลาง

โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



              ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวสารต่างประเทศสม่ำเสมอคงได้รับทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่ามีเหตุเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เกิดขึ้นในประเทศแถบแอฟริกาตอนบนและลุกลามมาถึงตะวันออกกลาง เริ่มต้นจากการจราจลในตูนิเซียจนถึงโค้นล้มเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 14 มกราคมที่ผ่านมา ขยายตัวมาเป็นการก่อความไม่สงบในอัลบาเนีย แอลจีเรีย จอร์แดน และข้ามมาถึงไคโรในอียีปต์ เวลานี้การยึดกุมอำนาจการเมืองมายาวนานเกือบ 30 ปีของประธานาธิปดีฮอสนี่ มูบารัค ก็เป็นอันถึงจุดจบไปเรียบร้อยแล้ว แต่ดูเหมือนกระแสคลื่นความตื่นตัวของพลังประชาชนที่โหยหาประชาธิปไตย ยังไม่มีทีท่าจะหยุดอยู่เพียงเท่านั้น ในทางตรงข้าม เกิดกระแสเลียนแบบแพร่ไปทั่วในอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโอมาน เยเมน เลบานอน เรียกกันเป็นศัพท์แสงวัยรุ่นในโลกไซเบอร์ว่าเป็นคลื่นการปฏิวัติดอกบัว(Lotus Revolution) จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่า บรรดาผู้นำเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการทั้งหลายในประเทศเหล่านั้นจะสามารถควบคุมได้อยู่หรือไม่ ยังจะมีอีกกี่ประเทศที่คลื่นประชาชนจะเป็นฝ่ายชนะเปลี่ยนแปลงการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

                  เพื่อนอาจารย์ท่านหนึ่งที่สอนหนังสืออยู่ในคณะรัฐศาสตร์ เฝ้าจับตามองพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนครั้งนี้แบบใจจรดใจจ่อ  สบโอกาสท่านก็ถามผมว่าบรรดาผู้นำพรรคและรัฐบาลของประเทศจีนยังอยู่ดีนอนหลับกันหรือไม่อย่างไร  ก็นับว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะก่อนหน้านี้ผมเองก็ไม่ได้คิดเชื่อมโยงเรื่องราวนี้ไปถึงประเทศจีนแต่อย่างใดยกเว้นเรื่องราคาน้ำมันที่อาจส่งผลกระทบ แต่พออาจารย์ท่านที่ว่านี้ทักขึ้น ผมเองก็เกิดอาการขนลุกวาบขึ้นมาทันที เพราะว่าไปแล้ว ปรากฏการณ์ทางการเมืองและการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ในตะวันออกกลางขณะนี้ น่าจะต้องส่งผลต่อผู้คนในประเทศจีนอย่างมากแน่นอน ภาพเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาและประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่จตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี ค.ศ.1989 แม้ผ่านมาร่วม 22 ปีแล้วก็ตาม  แต่ก็ยังฝากบาดแผลเป็นรอยลึกในความทรงจำของชาวจีนจำนวนมาก  ภาพเหตุการฝูงชนจำนวนมากประท้วงและการยิงต่อสู้ระหว่างประชาชนสองฝ่ายในจตุรัสกลางเมืองไคโร หากเผยแพร่โดยเสรีในสื่อจีน  คงทำให้คนจำนวนมากเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่จตุรัสเทียนอันเหมินได้ไม่ยาก ดีไม่ดีอาจย้อนรำลึกไปถึงเหตุการณ์เก่าก่อนอีกมากมายหลายกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศจีน หรืออย่างน้อยก็อาจทำให้คนจีนจำนวนมากแอบลุ้นเอาใจช่วยขบวนการประชาชนชาวอียิปต์ในได้ชัยชนะ
                   ด้วยความที่ถูกเพื่อนทัก ผมก็เลยเข้าไปสืบค้นหาข่าวดูตามหน้าสื่อต่างๆย้อนหลังตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมเมื่อเกิดเหตุขึ้นใหม่ๆในประเทศตูนิเซีย  ปรารกฏว่าก็พอมีข่าวสั้นๆ อยู่บ้าง ในแนวทำนองว่า “กระทรวงการต่างประเทศจีนเป็นห่วงเหตุการณ์ความรุนแรง และหวังว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ความสงบโดยเร็ว” อะไรทำนองนั้น  แต่พอมาถึงกรณีการประท้วงและจราจลในอียิปต์ กลับปรากฏว่าข่าวหายเงียบไปจากสื่อจีนทุกรูปแบบ  กระทรวงการต่างประเทศของจีนเองก็ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยเพียงแค่ฉบับเดียว(ไม่เหมือนกรณีไทย-กัมพูชา เห็นกระทรวงต่างประเทศจีนแถลงข่าวหลายรอบเหลือเกิน) แล้วก็ไม่มีการพูดถึงอีกเลย  ผมเองเริ่มรู้สึกว่าชักจะน่าสนใจ ก็เลยลองเข้าไปในเสริซเอ็นจินภาษาจีน เพื่อลองค้นคำภาษาจีนว่า “ประท้วงในอียิปต์”  ปรากฏว่าหาผลการสืบค้นไม่ได้ หน้าจอขึ้นมาว่าระบบผิดพลาด ลองทำอยู่หลายครั้งก็ได้ผลเหมือนเดิม เรื่องทำนองแบบนี้จัดว่าเป็นเรื่องธรรมดาในประเทศจีนก็ว่าได้ การควบคุมสื่อและอินเตอร์เน็ตของรัฐบาลบาลจีนในกรณีที่มีปัญหาด้านความมั่นคงนั้น ปรากฏให้เห็นได้อยู่เสมอ อย่างกรณีผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ นายหลิว เสี่ยวปอ ที่ผมเคยนำเสนอท่านผู้อ่านไปก่อนหน้านี้ แม้ข่าวจะออกดังในระดับนานาชาติ แต่ในประเทศจีนเองกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องความมั่นคง และสื่อต่างๆ ถูกควบคุมจำกัดการเสนอข่าวในทุกช่องทาง แม้แต่ในอินเตอร์เน็ตเอง  ในคราวนี้ กรณีของอียิปต์ ข้อสงสัยของเพื่อนอาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ดูเหมือนจะมีมูล รัฐบาลจีนมองกรณีดังกล่าวไม่ใช่เพียงเป็นข่าวต่างประเทศชิ้นหนึ่ง แต่อาจเห็นว่าจะสามารถกลายเป็นชนวนให้เกิดความวุ่นวายขึ้นได้ในประเทศ หากปล่อยให้มีการนำเสนอข่าว และวิพากษ์วิจารณ์กันได้อย่างเสรี  ผมเองได้ลองพยายามค้นคำที่อาจเกี่ยวข้องกับเหตุความวุ่นวายทางการเมือง ในประเทศตะวันออกกลางอื่นๆ ก็ปรากฏได้ผลคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นในเว๊บ Sina.com ใน Netease.com หรือใน Weibo  ในประเทศที่มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากถึง 475 ล้านคน งานแบบนี้จัดว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว โอกาสที่จะปิดกั้นให้ได้เต็มร้อยไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ
                  สาเหตุปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลจีนเดือดร้อนวุ่ยวายได้ขนาดนี้  คงไม่ใช่เพียงเพราะวิญญาณร้ายเทียนอันเหมินมาหลอกหลอน แต่อาจเป็นเพราะโดยภาพรวมแล้วประเทศจีนในเวลานี้ก็กำลังเผชิญกับปัญหาสารพัดจะวุ่นวายอยู่พอแล้ว  ความแตกต่างระหว่างเมืองและชนบท ปัญหาคนจนกับคนรวยที่ช่องว่างห่างไกลกันมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่ยังควบคุมไม่ได้และส่งผลกับคนยากจนในพื้นที่ชนบทมากเป็นพิเศษ  แนวโน้มปัญหาภัยแล้งที่เริ่มขึ้นแล้วในปีนี้และทำท่าจะรุนแรงเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในภาคตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ของจีน  เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นข่าวร้ายในชีวิตประจำวันของชาวจีนที่เป็นคนยากคนจน และเป็นประเด็นที่นักวิชาการและคนหนุ่มคนสาวตามเมืองใหญ่ที่มีการศึกษาพากันจับกลุ่มแอบนินทารัฐบาลและพรรคเป็นปรกติอยู่แล้ว  ฉะนั้นหากปล่อยให้ข่าวสารการประท้วงลุกฮือของมวลชนในประเทศต่างๆเผยแพร่โดยอิสระ หรือปล่อยให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันโดยเสรีในเครือข่ายไซเบอร์  โอการที่จะเกิดเหตุน้ำผึ้งหยดเดียว หรือก่อหวอดประท้วงขึ้นในประเทศจีน มีความเป็นไปได้สูงที่เดียว รัฐบาลและพรรคเตยมีประสบการณ์ในทำนองเช่นนี้มาแล้วเมื่อคราวเทียนอันเหมิน อันสืบเนื่องมาจากความเปลียนแปลงในอดีตสหภาพโซเวียต  เสียงฟ้าร้องฟ้าคำรามที่ดังมาจากดินแดนตะวันออกกลางคราวนี้ จึงไม่ใช่เรื่องเล็กสำหรับจีน  หากไม่รีบปิดหูปิดตา อาจพากันตื่นตกใจวิ่งวุ่นก็เป็นได้ ต้องไม่ลืมว่าเหตุประท้วงวุ่นวายถึงขั้นล้มรัฐบาลในตูนิเซียเริ่มต้นมาจากน้ำผึ้งหยดเดียว คือตำรวจจับหนุ่มตกงานที่หันมาเข็นรถขายผลไม้ ในข้อหาไม่มีใบอนุญาต ทำให้เกิดการลุกฮืออย่างไม่คาดไม่ฝัน  เพราะสังคมตูนิเซียโดยรวมก็ถูกปัญหาสารพัดรุมเร้าใกล้จุดระเบิดอยู่แล้ว  รอแต่เพียงให้มีอะไรขวางหูขวางตาผ่านเข้ามา ก็ระเบิดได้ทันที่  ผมก็ได้แต่หวังว่า สังคมจีนคงจะยังไม่เปราะบางถึงขนาดนั้น มิเช่นนั้นอาจพากันเจ็งไปหมดทั้งภูมิภาคก็ได้  อย่าทำเป็นเล่นไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น