ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

ค่าจ้างขั้นสูง - ขั้นต่ำ

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
         รัฐบาลท่านนายกฯปูทำงานมาถึงเวลานี้ ก็ล่วงเข้าสู่เดือนที่สองกว่าๆ แล้ว อารมณ์คึกคักดูเหมือนยังครอบคลุมท่านที่เพิ่งเข้ามารับหน้าที่เป็นใหญ่เป็นโตได้อำนาจรัฐเข้าบริหารประเทศ หลายกระทรวงหลายหน่วยงานก็กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ตามธรรมดาการเปลี่ยนนายใหม่ กว่าจะโยกย้ายผู้คนเข้าที่เข้าทาง ก็คงต้องใช้เวลาอีกร่วมเดือน ในขณะเดียวกัน บรรดานโยบายทั้งหลายที่หาเสียงกันไว้ในช่วงเลือกตั้ง ผู้คนที่มีส่วนได้เสียก็เริ่มออกมาทวงถาม ว่าไปแล้วนอกจากเรื่องลดราคาน้ำมันรถยนต์ เรื่องอื่นๆ ที่รับปากไว้ก็ดูเหมือนยังไม่สามารถดำเนินการได้เท่าไรนัก หากมองแบบเห็นใจรัฐบาลและให้โอกาสช่วงฮันนีมูน ก็คงต้องให้โอกาสกันไปอีกสักระยะ จนกว่าจะพ้นหน้าน้ำท่วม แต่ถ้าจะว่ากันแบบเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้า ก็พอจะเข้าใจได้ว่าหลายต่อหลายเรื่องรอไม่ได้จริงๆ ยิ่งสำหรับพี่น้องระดับรากหญ้าและคนหาเช้ากินค่ำในเมืองด้วยแล้ว เรื่องเงินเรื่องทอง ไม่เข้าใครออกใคร ได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งดี เพราะตอนที่หาเสียงก็ไปบอกเขาไว้ว่า ทุกเรื่องทำได้จริง ทำได้ทันที ไม่ว่าเรื่องราคาพืชผล เรื่องค่าจ้างรายวันขั้นต่ำ 300 บาท เรื่องเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท สัปดาห์นี้ผมก็เลยถือโอกาสเกาะติดกระแส ชวนท่านผู้อ่านที่รัก พูดคุยเรื่องค่าจ้างเรื่องเงินเดือนสักหน่อย แต่เป็นข้อมูลของประเทศจีนนะครับ เพราะเห็นนักวิชาการหลายท่านออกมาตั้งข้อห่วงใยเกี่ยวกับนโยบายเรื่องนี้อยู่เยอะ บางที่ถ้าทราบว่าบ้านใกล้เรือนเคียงเขาเป็นอย่างไรกัน อาจช่วยให้เราสบายใจ หรือวิเคราะห์กันถูกทางขึ้นมาบ้าง

คุณหยางหยวนชิง ซีอีโอของกลุ่มเลโนโวจีน
                   สถานการณ์เรื่องค่าจ้างแรงงานในประเทศจีนตอนนี้ เปลี่ยนแปลงไปจากที่เราเคยคิดเคยเข้าใจอยู่มาก ว่าตามข่าวสารผลการสำรวจที่ผมไปค้นในThe New York Times และของ Bloomberg News ฉบับย้อนหลังเมื่อเดือนมีนาคม ช่วงปลายไตรมาสแรกของปีนี้ มีหน่วยงานของบริษัทวิจัยทางการตลาดที่ทำการศึกษาเรื่องค่าแรงในประเทศจีน ได้ทำการเปรียบเทียบการปรับเปลี่ยนจากต้นปี 2010 ถึงมีนาคม 2011 พบว่า ค่าแรงขั้นต่ำทั่วทั้งประเทศของจีนเพิ่มขึ้นมากทีเดียว โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 แต่เมื่อดูแยกย่อยไปตามหัวเมืองต่างๆ แล้วพบว่า สัดส่วนการเพิ่มในหัวเมืองหลักที่มีการจ้างงานสูงและมีค่าครองชีพสูงอยู่แล้ว ดูจะเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยที่กล่าวไป ตัวอย่างเช่น
            มณฑลกวางตง      ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่อเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2  มาอยู่ที่ 1,300 หยวน
            มหานครเซี้ยงไฮ้    ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่อเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14     มาอยู่ที่ 1,280 หยวน
            มหานครปักกิ่ง      ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่อเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ21      มาอยู่ที่ 1,160 หยวน
            มหานครเทียนจิน  ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่อเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 16     มาอยู่ที่ 1,070 หยวน
            มหานครเสิ่นเจิ้น   ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่อเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20     มาอยู่ที่ 1,320 หยวน
            มณฑลเจียงซู        ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่อเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15     มาอยู่ที่ 1,140 หยวน
          ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่อเดือนอย่างเป็นทางการที่แต่ละแห่งประกาศปรับเพิ่มในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มว่าจะมีการประกาศเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า หากเงินเฟ้อและดัชนีค่าครองชีพของจีนยังเดินหน้าเพิ่มขึ้นไม่หยุด
            ในด้านบัณฑิตจบใหม่ปริญญาตรี ข่าวสารที่เกี่ยวข้องยังสับสนสรุปชัดไม่ได้ ในด้านหนึ่งผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีของจีนส่วนใหญ่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นครั้งแรก ต่างก็ตัดพ้อรัฐบาลว่าไม่ดูแลคุ้มครองค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ทำให้หางานยาก เงินเดือนที่ได้ก็น้อย ไม่พอกับค่าครองชีพในเมือง ในขณะที่ด้านบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจจำนวนมากของจีนก็อ้างว่าบัณฑิตจบใหม่ไม่มีประสบการณ์ ทำงานไม่เป็น แต่เรียกร้องเงินเดือนสูง ทำให้หาคนมาทำงานได้ลำบาก ถ้ารัฐบาลไม่รีบแก้ไข ประเทศชาติไม่เจริญแน่ๆ อะไรทำนองนั้น ในขณะที่ผลสำรวจของพนักงานชาวจีนที่ทำงานในบริษัทต่างชาติกลับพบว่า บัณฑิตปริญญาตรีจบใหม่ที่เข้าทำงานในบริษัทเหล่านี้ เกือบทั้งหมดได้เงินเดือนค่าจ้างเมื่อแรกเข้าเกินกว่า 3,000 หยวน ตกลงภาพจริงๆ เป็นอย่างไรก็ยังบอกได้ยาก ถ้าจะให้ดูข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุดเท่าที่มีอยู่ในเวลานี้ หรือเท่าที่ผมค้นหามาได้ในเวลาอันจำกัด ก็คงต้องบอกว่าค่าจ้างเงินเดือนแรกทำงานของบัณฑิตปริญญาตรีนั้น ไม่เท่ากัน แตกต่างกันด้วยปัจจัยหลักๆ อย่างน้อยสามประการ คือ เรียนจบอะไรมา จากมหาวิทยาลัยอะไร และทำงานที่ไหน กล่าวคือ หากสำเร็จการศึกษาด้านไอทีจากมหาวิทยาลัยมีชื่อชั้นนำของจีนและทำงานในบริษัทของต่างชาติ พวกนี้เริ่มบรรจุที่เงินเดือนเฉลี่ยเกิน 3,300 หยวนแน่ๆ ถ้าเป็นปริญญาโทก็เกิน 3,750 หยวน ถ้ามีปริญญาเอกและทำงานวิจัยพัฒนาได้ด้วยก็เกิน 5,000 หยวน นี้ยังไม่พูดถึงพวกที่มีความสามารถสูง ผลการเรียนโดดเด่น เก่งภาษาอังกฤษ พวกนี้บางคนเริ่มต้นที่เกือบหมื่นหยวนในระดับปริญญาเอก นอกจากนี้แล้ว ในบรรดาบริษัทต่างชาติที่ลงทุนทำธุรกิจในประเทศจีน ก็อาจมีธรรมเนียมในการพิจารณาให้ค่าจ้างเงินเดือนที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าเป็นบริษัทของอเมริกันหรือที่บริหารงานโดยคนอเมริกัน บริษัทเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับรายละเอียดของเนื้อหาหลักสูตรที่เรียนมามากเป็นพิเศษ ใครที่จบมาตรงสเป็คมากๆ ก็จะได้เงินเดือนสูง ในขณะที่พวกบริษัทจากยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนีและฝรั่งเศส จะให้ความสำคัญกับเรื่องการสัมภาษณ์และความสามารถทางภาษา หรือทักษะการสื่อสารเป็นพิเศษ คือ พูดรู้เรื่องสั่งงานได้ไม่ทำงานผิดๆ ถูกๆ แบบนี้ให้เงินเดือนสูง แต่ถ้าเป็นบริษัทของญี่ปุ่นและไต้หวัน อันนี้ดูที่ภูมิหลังครอบครัวและมหาวิทยาลัยที่สำเร็จการศึกษามา ถ้าจบจากมหาวิทยาลัยดัง (ปักกิ่ง ชิงหัว เจียวทง ฯลฯ) ครอบครัวดีพ่อแม่ดี (ดียังไงต้องคิดเอาเองนะครับ) อย่างนี้ให้เงินเดือนสูง ในอีกด้านหนึ่งของสุดปลายขั้ว ตอนนี้ผู้บริหารบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จีน ข่าวว่า ได้เงินเดือนกันคนละหลายล้านหยวน ตัวอย่างเช่น คุณหยางหยวนชิง (ที่ผมเอารูปมาให้ดู) ซีอีโอของกลุ่มเลโนโวจีน เงินเดือนตกเดือนละกว่า 6 ล้านหยวน
                 เรื่องเงินเดือนค่าจ้าง แม้จะเป็นขั้นต่ำหรือเงินเดือนเริ่มต้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะจัดให้เหมือนกันได้ทั้งระบบ จบหลักสูตรเหลวไหลอะไรมาแล้วได้หมื่นห้า ก็เป็นเรื่องน่าดีใจแทนและน่าโมทนาด้วย แต่ก็ต้องตอบคนที่จบวิศวะ จบแพทย์ให้ได้ว่า ที่พวกเขาพากันตั้งใจ ฝ่าฟันเรียนหนังสือมา จะให้พวกเขาเท่าไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น