ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

ท้องถิ่นจีนกับวิสาหกิจชุมชน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                 สัปดาห์นี้ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ก็มีข่าวสารน่าสนใจค่อนข้างมากจากประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นข่าวงานเทศกาลไหว้พระจันทร์ซึ่งจัดกันยิ่งใหญ่เป็นพิเศษในเขตเศรษฐกิจฮ่องกง ข่าวเขื่อนสามโตรกผาของจีนซึ่งเป็นโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำและผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของโลก เริ่มต้นเก็บกักน้ำเต็มขีดความสามารถของความจุเขื่อน หรือข่าวใหญ่เรื่องการส่งออกของจีนกลับมาขยายตัวเพิ่มในเดือนสิงหาคมมากถึงกว่าร้อยละ๒๔ หลังจากที่ชะลอตัวไปนานตามภาวะเศรษฐกิจโลกฯลฯ มีข่าวใหญ่ๆ มากเสียจนผมเองก็เลือกไม่ถูก ไม่รู้จะนำข่าวเรื่องใดมาขยายความนำเสนอท่านผู้อ่าน จนท้ายที่สุดหลังจากเปิดหาข่าวหลักๆ ดูไปจนหมดแล้วก็เผอิญไปพบว่ามีข่าวสองข่าวที่ดูจะขัดแย้งกันแปลกๆ ยังไงๆ อยู่คู่หนึ่ง ก็เลยเกิดสนใจค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ขออนุญาตนำมาเป็นประเด็นชวนคุยในสัปดาห์นี้เสียเลย
                 ข่าวแรก เป็นข่าวที่รัฐบาลกลางของจีนได้เข้าตรวจสอบติดตามภาวะหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น สืบเนื่องจากข่าวผลการศึกษาของสภาวิจัยสังคมศาสตร์ของจีนที่ออกมาแสดงความห่วงใยในการใช้จ่ายและการลงทุน ที่แต่ละท้องถิ่นพากันทุมเทลงทุนจนเกิดหนี้สินรุงรังไปหมด ก่อนหน้านี้ก็เคยมีข่าว ว่าหลายแห่งใช้จ่ายเงินรายได้ไปกับการพัฒนาวิสาหกิจโดยที่ไม่ได้มีการศึกษาผลตอบแทนทางธุรกิจว่าคุ้มค่าหรือไม่ เห็นคนอื่นทำก็เลียนแบบทำตามๆกันไป จนท้ายที่สุดขาดทุนและต้องถูกบังคับให้ต้องยุติโครงการไปโดยปริยาย  ผลการตรวจสอบของรัฐบาลกลางเที่ยวนี้ พบว่าท้องถิ่นของจีนในระดับต่างๆ มีหนี้สินอันเนื่องมาจากการลงทุนรวมกันกว่า 1.7ล้านล้านหยวน เรียกว่าเป็นตัวเลขที่เยอะเอามากๆ สำหรับคนไทยเรา ถ้าจะลองเปรียบเทียบดูก็ประมาณหลายเท่าตัวของงบประมาณแผ่นดินบ้านเรา หากเทียบกับ GDP ทั้งประเทศของจีน ก็ประมาณยังไม่ถึงครึ่งดีนัก แต่ถ้าเทียบกับ GDP ของท้องถิ่นจีนแล้ว ตัวเลขอาจสูงถึงร้อยละ 73 เรียกว่าเป็นระดับของหนี้สินที่มากเอาการอยู่ ผมเองก็ไม่ใช่ว่าจะรู้เรื่องทางเศรษฐศาสตร์สักเท่าใดหรอกครับ อีกทั้งความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์หลังผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาหลายรอบ ก็ดูจะไม่มีข้อยุติชัดเจนนัก ว่าสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP เท่าไหร่จึงจะเรียกว่าอันตราย แค่ไหนถึงจะเรียกว่าปลอดภัย ทำนองคล้ายกับนักการเมืองฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลในบ้านเรานั้นแหละครับ เวลาอภิปรายตัวเลขการกู้ยืมก่อหนี้ก่อสิน ดูเหมือนจะใช้ตำรากันคนละเล่ม เถียงกันไม่จบว่าหนี้เยอะแล้วใกล้จะล่มจม หรือว่ากู้มากำลังดี ยังกู้ได้อีกปลอดภัยแน่ๆ ขอเอาตัวเลขเปรียบเทียบของสามชาติใหญ่ๆ มาเป็นตัวอย่างก็แล้วกันนะครับ ในปี 2010  ของอเมริกา หนี้สินต่อ GDP เท่ากับ ร้อยละ53.5 ของประเทศญี่ปุ่นในปีเดียวกันเท่ากับร้อยละ 225.8 ของเยอรมนีเท่ากับร้อยละ 78.8 เปรียบเทียบดูแล้วก็ลองพิจารณาดูกันเอาเองเถอะครับ ว่ากรณีของท้องถิ่นจีน หนี้สินที่มีอยู่จะเรียกว่ามากหรือยังไม่มาก แต่ที่แน่ๆ ฝ่ายรัฐบาลกลางที่เข้าไปตรวจสอบเที่ยวนี้ สรุปออกมาแล้ว ว่ายังไม่ถึงขีดอันตราย และยังสามารถควบคุมได้อยู่ และจะไม่ยอมปล่อยให้ท้องถิ่นของจีนต้องตกอยู่ในภาวะหนี้ล้นพ้นตัวอย่างที่เกิดในบางประเทศของยุโรป อย่างไรก็ดีหากพิจารณาจากความตื่นตัวและมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลกลางกำหนดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เช่นข้อกำหนดการขายพันธบัตรหรือตราสารเงินกู้ของท้องถิ่นที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ห้ามไม่ให้ออกพันธบัตรโดยเด็ดขาดหากมีหนี้สินเดิมอยู่แล้วมากกว่างบประมาณประจำปีนั้นๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า ท้องถิ่นของจีนหลายแห่ง กำลังเริ่มมีปัญหาหนี้สินอย่างไม่ต้องสงสัย และอาจนำไปสู่วิกฤตในระดับชาติ หากไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง
                 ข่าวที่สอง ที่ผมบอกว่าขัดแย้งกับข่าวข้างต้น ก็คือข่าวหมู่บ้านที่รวยที่สุดของจีน เกิดเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศก็เพราะ ผู้คนในหมู่บ้านร่วมทุนกันเป็นวิสาหกิจท้องถิ่นลงทุนก่อสร้างอาคาร 78 ชั้นสูง 328 เมตรกลางหมู่บ้าน และเตรียมจะเปิดให้บริการโรงแรมหรูในปลายปีนี้ ในโอกาสครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งหมู่บ้านตั้งแต่เมื่อแรกเป็นคอมมูนการเกษตร ใช้เงินในการก่อสร้างไปไม่มากเท่าไรหรอกครับ แค่สามพันล้านหยวน ยังไม่นับร่วมรูปวัวทองคำบนยอดตึกหนักเกือบหนึ่งพันกิโลกรัม อีกทั้งยังเตรียมสั่งต่อเรือสำราญ 500 ที่นั่ง เพื่อบริการนักท่องเที่ยว ลงทุนขนาดนี้ ก็เลยดังไปทั้งประเทศ กลายเป็นเรื่องกล่าวขานวิพากษ์วิจารณ์กันทั้งประเทศ หมู่บ้านหัวซี ในมณฑลเจียงซูแห่งนี้ เติบโตร่ำรวยขึ้นมาจากโรงงานสิ่งทอ เหล็ก และการท่องเที่ยว เมื่อปีกลาย หมู่บ้านนี้ก็เคยตกเป็นข่าวดังมาแล้วรอบหนึ่ง เพราะสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ที่เดียวสองลำ เอาไว้ให้นักท่องเที่ยวบินชมทิวทัศน์รอบหมู่บ้าน
                หัวซีเป็นตัวแบบหมู่บ้านสมัยใหม่ในเขตมณฑลตะวันออกของจีน ที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นโรงงานหลังบ้านให้กับเมืองใหญ่อย่างมหานครเซี่ยงไฮ้และนานจิง ในปี 2003 หัวซีเป็นหมู่บ้านหรือกลุ่มวิสาหกิจท้องถิ่นกลุ่มแรกที่มีผลผลิตมวลรวมต่อปีสูงถึงหนึ่งหมื่นล้านหยวน ด้วยพื้นทีเพียง .96 ตารางกิโลเมตรและประชากรเพียง 1,500 คน หัวซีรับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศมากถึงสองล้านคนต่อปี หลายต่อหลายคนวิจารณ์การลงทุนของหมู่บ้านหัวซีว่าเป็นการลงทุนแบบบ้าเลือดบุ่มบ่าม ในโลกอินเตอร์เน็ตชาวเว็บวิจารณ์ว่าเป็นการโชว์ความร่ำรวยแบบคนบ้านนอก แต่สำหรับผู้บริหารหมู่บ้าน ประธานพรรคฯ และชาวบ้านในหัวซี อาคาร 328 เมตร หลังนี้ คือความภาคภูมิใจ หยาดเหงื่อแรงงานแห่งความสำเร็จ และอนาคตอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของชุมชนแห่งนี้ เป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ จากการตรากตรำใช้แรงงานทำมาหากินในภาคอุตสาหกรรม มาเป็นธุรกิจภาคการให้บริการ อีกทั้งยังสร้างงานใหม่ๆ ที่สบายขึ้นให้กับหนุ่มสาวลูกหลาน ช่วยป้องกันไม่ให้คนรุ่นต่อๆ ไปต้องจากบ้านจากชุมชนไปหางานทำในเมืองใหญ่ข้างเคียง  จะด่วนตัดสินว่าชาวหัวซีเป็นพวกอวดร่ำอวดรวย หรือจะบอกว่าเป็นเศรษฐีที่มีวิสัยทัศน์ อันนี้คงต้องรอดูกันต่อไป
                 สองตัวอย่างที่ยกมาเล่าให้ฟังในสัปดาห์นี้ ก็ไม่ได้มีอะไรมากหรอกครับ เพียงแต่อยากให้เราจับตาดูบทบาทของท้องถิ่นจีนให้ดี ความเปลี่ยนแปลงมากมายกำลังเกิดขึ้น และน่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลต่อหน้าตาของประเทศจีนในอนาคตอย่างมากทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น