ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อุตสาหกรรมรถยนต์จีน

โดย รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมต้องเร่งปั่นต้นฉบับคอลัมน์คลื่นบูรพา ตั้งแต่กลางดึกคืนวันจันทร์ กว่าจะได้ส่งเข้าอีเมล์ของสำนักพิมพ์ ก็ล่วงเข้าเช้าวันอังคาร พอตกตอนสายวันอังคารก็ต้องออกเดินทางไปประเทศจีนอีกแล้ว ไปคราวนี้เป็นราชการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พาคณะผู้บริหารระดับกลางของมหาวิทยาลัย ไปดูงานการจัดการด้านเทคโนโลยีและเจรจาความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยจี๋หนาน ที่มหานครกวางโจว ถือเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี และเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน โดยเฉพาะในทางภาคใต้  ไปเที่ยวนี้ก็จัดว่าได้งานได้การและสนุกสนานมากเป็นพิเศษ เหตุก็เพราะ ไม่ได้ไปนครกวางโจวเสียนาน ก็เลยได้มีโอกาสเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ที่สังเกตพบว่าเปลี่ยนแปลงไปมากในคราวนี้ ก็เห็นจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์และระบบคมนาคมที่พัฒนาไปมาก(นับตั้งแต่ปี 2009 จีนได้กลายเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก) สัปดาห์นี้ผมก็เลยจะขอถือโอกาสชวนคุยเรื่องอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจีน เอามารายงานท่านผู้อ่าน จะเข้ากันได้หรือไม่กับนโยบายรถคันแรกลดหนึ่งแสนของรัฐบาลบ้านเราหรือเปล่าก็ลองดูนะครับ
ที่ว่าอยากชวนคุยเรื่องอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีน ก็เพราะในระหว่างที่เดินทางไปกวางโจวคราวนี้ เผอิญกำลังมีข่าวในแวดวงอุตสาหกรรมของจีนที่กำลังคิดอ่านวางแผนจะขยายฐานการผลิตรถยนต์จีนไปยังต่างประเทศ  เริ่มต้นที่อเมริกาใต้ และอาฟริกา ข่าวนี้ผมเองเดาว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากเรื่องนโยบายภาษี และการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในเพื่อทดแทนการนำเข้ารถยนต์ของประเทศต่างๆ ที่เดิมเคยเป็นตลาดรองรับการส่งออกของจีน ไม่น่าจะใช่ด้วยสาเหตุเรื่องความได้เปรียบในต้นทุนการผลิต อีกทั้งความคิดริเริ่มออกไปลงทุนนอกประเทศทำนองเช่นนี้ ก็ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลจีน ที่อยากเห็นอุตสาหกรรมของจีนออกไปเปิดพื้นที่เปิดตลาดและแข่งขันลงทุนนอกประเทศมากยิ่งขึ้น อาศัยจังหวะที่เงินหยวนกำลังแข็งเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ อีกสาเหตุหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามก็คือ แนวโน้มตลาดรถยนต์ภายในประเทศของจีนเอง ขณะนี้ก็อาจเรียกได้ว่าอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ใช้งานราคาขนาดกลางและต่ำ หากพิจารณาจากตัวเลขผลสำรวจที่ได้จากผู้ประกอบการจีนในอุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวม ที่วารสารและเว็ปไซต์ยานยนต์ Gasgoo ได้ทำการสัมภาษณ์กว่า 3,812ราย สรุปความเห็นว่าอัตราการขยายตัวยอดขายในครึ่งปีหลังโดยรวมในทุกกลุ่มชนิดรถยนต์ ไม่น่าจะถึงร้อยละ 5 สาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้การขายภายในประเทศชะลอตัวไม่ร้อนแรงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ (ปี 2010 ขายได้ 18 ล้านคัน ปี 2009 ขายได้ 13 ล้านคัน) อาจเนื่องจากตลาดถูกโหมโฆษณาและทำกิจกรรมส่งเสริมการขายไปล่วงหน้าแล้ว จนหมดกำลังซื้อในครึ่งปีหลัง บวกกับราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศจีนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ภาษีรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น และการสิ้นสุดโครงการของรัฐบาลอุดหนุนเงินที่ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในการซื้อรถยนต์ และท้ายสุด ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมของผู้บริโภคชาวจีนที่ลดลง 
        ที่ยังพอมีอัตราการขายที่เพิ่มขึ้น กลับเป็นกลุ่มรถยนต์ราคาแพง อันนี้ดูได้ไม่ยากจากงานแสดงรถยนต์หรูที่เซี่ยงไฮ้ที่จัดขึ้นเมื่อตอนเดือนมีนาคม แม้ตลาดรถหรูรถแพงจะไม่จัดว่าเป็นตลาดรถยนต์หลักของจีน แต่ก็มีสัดส่วนมูลค่าไม่น้อยทีเดียว ในขณะที่ตลาดโดยรวมอาจดูไม่คึกคักมากนัก แต่ในตลาดระดับบนที่ว่านี้ อัตราการเติบโตยังคงไต่อย่างต่อเนื่องอยู่ที่เกินกว่าร้อยละ 10ต่อปี เป็นอย่างนี้ติดต่อกันมาไม่ต่ำกว่า 5ปีแล้ว ไม่ว่าน้ำมันจะแพงขึ้นเท่าไร รัฐบาลจะอุดหนุนหรือไม่ ภาษีจะแพงหรือถูก ผู้ซื้อในกลุ่มนี้ก็ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามจำนวนเศรษฐีใหม่และคนชั้นกลางระดับบนที่เพิ่มมากขึ้นของจีน
ในอีกด้านหนึ่ง หากแผนการขยายการลงทุนและการเพิ่มฐานการผลิตใหม่ๆ ในต่างประเทศเป็นจริง อย่างน้อยที่สุดอาจกล่าวได้ไม่ผิดนักว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนยังจัดว่าเป็นอุตสาหกรรมขาขึ้น และอาจเป็นหนึ่งในไม่กี่อุตสาหกรรมของจีนที่อัตราการเติบโตจะยังคงดำเนินต่อเนื่องไปได้อีกหลายปี ตัวเลขประมาณการของงานวิจัยที่จัดทำโดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาของรัฐบาลจีน ระบุว่า อุตสาหกรรมโดยรวมของยานยนต์จีนจะขยายตัวระหว่าง 3-4เท่าตัว ภายในปี 2020นั้นหมายความว่า ยอดขายต่อปีจะทะลุ 50ล้านคันต่อปีเป็นอย่างต่ำ เฉพาะหน้ามีบริษัท Chery Automobile Co., Ltd. ที่ผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถบรรทุกขนาดเล็กของจีน และเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของจีน ได้ไปลงทุนเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศบราซิล เมื่อเดือนกรกฎาคม ด้วยมูลค่าการลงทุนเบื้องต้น 400 ล้านเหรียญสหรัฐ กว่าจะเริ่มต้นผลิตรถยนต์ออกสู่ตลาดได้ก็น่าจะเป็นปี 2013 โดยChery Automobile Co, Ltd. ตั้งเป้าการผลิตไว้ที่ 50,000 คันในปีแรก และ 150,000-170,000คัน ในปีถัดๆ ไปเพื่อป้อนสู่ตลาดในประเทศอเมริกาใต้อื่นๆ นอกจากนี้ก็ยังมีข่าวของบริษัทผลิตรถยนต์บรรทุกของจีนที่มีฐานใหญ่อยู่ที่มหานครฉงชิ่ง ชื่อ Lifan Industry (Group) Co., Ltd. ได้เจรจาร่วมทุนกับโรงงานในบราซิล ลงทุนประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนาสายพานการผลิตรถยนต์ขนาด 10,000 คันต่อปี เป็นการทดลองตลาดก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนเพิ่ม
บ้านเราตอนนี้กำลังตื่นเต้นกับข่าวเรื่องรถยนต์คันแรกลดหนึ่งแสน ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือคนทำงานที่ยังไม่มีเงินมากนัก แต่ในทางปฏิบัติ ใครกันแน่จะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์ ทั้งฝ่ายผู้ซื้อและฝ่ายผู้ผลิตรถยนต์ มาตรการดังกล่าวแม้ว่าจะเป็นมาตรการระยะสั้น แต่ผลกระทบที่จะเกิดกับตลาดรถยนต์ในปีหน้าและปีต่อๆ ไป จะเป็นอย่างไร คำถามเหล่านี้คงยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน คงต้องรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อเริ่มนับหนึ่งวิ่งแห่กันไปจองซื้อรถ แต่จากประสบการณ์ของจีน มาตรการอุดหนุนเพื่อแก้ปัญหาช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ได้โหมตลาดกระตุ้นการซื้อ จนท้ายที่สุดกระทบต่อกลไกปรกติเดิมของตลาดรถยนต์ภายในประเทศ จีนอาจมีช่องทางแก้ปัญหา ด้วยการเร่งทำตลาดภายนอกมาชดเชยหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมของตน แต่เราคงไปเลียนแบบเค้าได้ลำบากอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น