ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปฏิวัติสายพันธุ์ข้าวจีน

โดย รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เปิดดูข่าวทีวีครั้งไร ก็เห็นมีแต่ข่าวน้ำท่วม ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่าน คงรู้สึกเช่นเดียวกับผม ปีนี้น้ำมากจริงๆ ฝนมาเร็วและยาวเป็นพิเศษ ที่เคยเชื่อกันว่าวันเพ็ญเดือนสิบสองน้ำนองเต็มตลิ่ง อย่างในเพลงลอยกระทงที่คุ้นหู ดูจะไม่ใช่เสียแล้ว เพียงแค่เดือนสิบไทย ก็ปรากฏว่าท่วมไปแล้วกว่า 37จังหวัด ถึงเดือนสิบสองจะเป็นอย่างไรก็ยังไม่กล้าคิด ที่เป็นประเด็นข่าวดังติดตามมาจากเรื่องน้ำท่วม ก็คือข่าวความขัดแย้งกันของชุมชนเมืองกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ข่าวการบุกทะลายเขื่อนกันน้ำ ข่าวชาวนาต้องถือเคียวดำน้ำลงไปเกี่ยวข้าว ทั้งที่ข้าวยังโตไม่เต็มรวง และหนักสุด เห็นจะเป็นข่าวเถียงกันไปมาระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้านว่าจำนำกับประกันรายได้ อันไหนดีกว่ากันในสถานการณ์น้ำท่วมแบบนี้ ผมก็ไม่ใช่ผู้สันทัดกรณีเกี่ยวกับการปลูกข้าวหรือค้าข้าว  แต่ที่รู้แน่ๆ เหมือนทุกท่าน ก็คือ ดูเหมือนปีนี้ข้าวบ้านเราจะเสียหายหนักเป็นพิเศษ
ในขณะที่กำลังเหนื่อยใจกับปัญหาน้ำท่วมและความเสียหายของไร่นาในบ้านเรา ก็ไปเจอเอากับข่าวที่ทำให้ขัดแย้งในอารมณ์เพิ่มเติมยิ่งขึ้นอีกหนึ่งเรื่อง อันเป็นที่มาของประเด็นนำเสนอชวนท่านผู้อ่านคุยในสัปดาห์นี้ ข่าวที่ว่านี้ ผมอ่านพบในเซ็กชั่นข่าวเศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์    ูงแม้เป็นเรื่องดีและคงเหรินหมิงของจีนฉบับวันเสาร์ที่ผ่านมา เนื้อข่าวบอกว่า บัดนี้จีนได้ดำเนินการเตรียมขยายพื้นที่การเพาะปลูกข้าวสายพันธุ์พิเศษที่พัฒนาขึ้นใหม่ ให้ครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดของประเทศภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ข่าวนี้เป็นผลสืบเนื่องต่อยอดจากรายงานข่าวก่อนหน้า เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่มีการแถลงความสำเร็จโดยบริษัท Yuan Long Ping High-Tech Agriculture Co., Ltd. ว่าสามารถพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพิเศษที่ให้ผลผลิตจากแปลงทดลองจริงที่เพิ่งเก็บเกี่ยวเสร็จเมื่อกลางเดือนนี้ สูงถึง 13,900 กิโลกรัมต่อหนึ่งเฮกเตอร์ หากข่าวนี้เป็นจริงไม่ได้ใส่สี เมื่อเทียบเป็นพื้นที่ต่อไร่ ก็เท่ากับว่า สายพันธุ์ข้าวสุดวิเศษนี้ให้ผลผลิตสูงถึง 2,224 กิโลกรัมข้าวเปลือกต่อไร่ (หนึ่งเฮ็กเตอร์ เท่ากับ 6ไร่ 1 งาน) ผมเองตอนที่อ่านข่าวดูแรกๆ ก็ไม่ได้ตกใจอะไร รู้แต่ว่าถ้าเป็นจริงก็ถือว่าสูงมาก แต่พอตัดสินใจจะนำเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นในคอลัมน์คลื่นบูรพา ก็เลยไปทำการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเปรียบเทียบกับไทยเรา ถึงได้รู้ว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจอยู่ เพราะหากดูจากตารางสรุปผลการเพาะปลูกข้าวของไทยเรา เมื่อฤดูการผลิตที่ผ่านมา ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ทั้งประเทศในฤดูนาปี เท่ากับ 394 กิโลกรัม แยกรายละเอียดเป็น ค่าเฉลี่ยภาคเหนือ 505 กิโลกรัมต่อไร่ ค่าเฉลี่ยภาคกลาง 535 กิโลกรัมต่อไร  ค่าเฉลี่ยภาคอีสาน 321 กิโลกรัมต่อไร ค่าเฉลี่ยภาคใต้ 356 กิโลกรัมต่อไร่ (ข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย)
เรื่องที่ประเทศจีนทั้งภาครัฐและเอกชน กำลังเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวกันยกใหญ่นั้น ไม่ใช่ว่าผมจะไม่ทราบ เรื่องนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนของจีนมาตั้งแต่ปี 1994 ทว่าที่ผ่านมาผมเองก็ยังไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นตกใจอะไร เพราะดูเหมือนสายพันธุ์ข้าวพิเศษ ๆ ที่จีนคิดค้นได้นั้น แม้จะได้ผลดีอย่างไร ก็ยังมีปัญหาข้อจำกัดเรื่องช่วงแสง (ผมไม่แน่ใจว่าใช้คำผิดหรือเปล่า ท่านผู้รู้ในวงการข้าวอย่าถือสาผมเลยนะครับ) กล่าวคือ สามารถเพาะปลูกได้เฉพาะในพื้นที่พิเศษแถบมณฑลยูนาน กวางสี กวางตุ้ง อะไรทำนองนี้ ในพื้นที่อื่นๆ ของจีน ที่มีช่วงเวลากลางวันของฤดูนาปีสั้นเพาะปลูกไม่ได้ผล ไม่ใช่ว่าจะปลูกไปได้ทั่วประเทศ ประกอบกับที่ผ่านมา สายพันธุ์ข้าวพิเศษที่ว่าดีนักดีหนา ก็ยังจำกัดอยู่แค่ในแปลงทดลอง ไม่ใช่ว่าจะออกมาปลูกกันจริงจังเต็มบ้านเต็มเมืองกันไปหมด สายพันธุ์ข้าวชั้นดีที่จีนพัฒนาขึ้น จนถึงขั้นที่เอามาแจกให้เกษตรกรทดลองปลูกได้จริงอย่างทั่วถึง จำนวน 61 สายพันธุ์ ตั้งแต่กลางปี 2008 ก็มีผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกิน 403 กิโลกรัมต่อหนึ่งหมู่ สายพันธุ์ ที่สูงสุดได้ 583.3 กิโลกรัมต่อหมู่ คิดเป็นต่อไร่ของไทยก็ประมาณ 967 กิโลกรัมข้าวเปลือก (หนึ่งหมู่เท่ากับ 666.7 ตารางเมตร หนึ่งไร่มี 2.399 หมู่) ถามว่าผลผลิตสูงกว่าของบ้านเราไหม ก็ต้องตอบว่าค่อนข้างสูง เกือบจะเป็นสองเท่าตัวของเรา แต่ก็ยังเป็นแค่การทดลองปลูกกระจัดกระจายตามพื้นที่ต่างๆ โดยเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่อยากลองของใหม่ และจำนวนมากก็เพียงนำเมล็ดพันธุ์ที่ได้มาทดลองแค่หนึ่งหรือสองฤดู เสร็จแล้วก็หันกลับไปใช้สายพันธุ์เดิมที่ปลูกง่ายและคุ้นเคย
             ทว่า มาบัดนี้ เอกชนเจ้าดังกล่าวข้างต้น ใจกล้าถึงขั้นประกาศว่าพร้อมจะส่งเสริมขยายพื้นที่การเพาะปลูกข้าวสายพันธุ์พิเศษใหม่ ให้ครอบคลุมร้อยละ 20 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศของจีนใน 3-5 ปี  เรื่องแบบนี้หากเกิดขึ้นได้จริง  ตลาดค้าข้าวภายในประเทศและการนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านของจีน คงจะผลิกโฉมหน้าไปเป็นคนละเรื่องเลยทีเดียว ประเทศจีนซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 550ล้านหมู่ และเป็นประเทศที่ปลูกข้าวได้มากที่สุดในโลก แต่ที่ผ่านมา โดยเงื่อนไขปัญหาทางสภาพอากาศและปริมาณความต้องการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี จีนก็ยังต้องนำเข้าข้าวจากประเทศอื่นอยู่ หากสายพันธุ์ข้าวใหม่ที่ว่านี้วิเศษจริงอย่างที่ว่า จีนอาจลดความจำเป็นในการนำเข้า และกระทบต่อตลาดข้าวทั่วทั้งภูมิภาคอย่างแน่นอน
ผมเห็นพวกเราในประเทศไทย เถียงกันมากเรื่องนโยบายข้าว ทั้งเรื่องจำนำดีหรือประกันรายได้ดีกว่า และเรื่องราคาข้าวเกวียนละ 15,000บาท อาจจะเป็นการดีกว่าหากพวกเราจะมาเถียงกันให้หนักยิ่งขึ้น โดยดูจากปัจจัยของภาพรวมตลาดข้าวในอนาคต ไม่ใช่จากประเด็นว่าข้าวถุงจะแพงขึ้นกี่บาท หรือชาวนาจะเอาเงินจำนำข้าวไปใช้จ่ายเปล่าประโยชน์กับเรื่องอะไร  ในอีกด้านหนึ่ง การรับจำนำข้าวด้วยราคาที่สูง แม้เป็นเรื่องดีและควรต้องทำ แต่ในเวลาเดียวกัน การส่งเสริมอาชีพทำนาให้เป็นเรื่องจริงจังและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น พร้อมๆ กับการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกและสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ก็มีความสำคัญและจำเป็นต้องรีบทำคู่ขนานกันไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น