ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

จุดเริ่มต้นสถานีอวกาศจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                
              เมื่อปลายปีที่แล้ว ช่วงเดือนธันวาคม ตอนที่ประเทศจีนประกาศความสำเร็จของภารกิจการสำรวจดวงจันทร์ โดยยานสำรวจฉางเออร์2 ผมได้เคยนำเสนอท่านผู้อ่านเรื่องความก้าวหน้าในเทคโนโลยีอวกาศของจีนไปแล้วครั้งหนึ่งในคอลัมน์นี้ ว่าไปแล้ว การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของจีน ที่เพิ่งจะเริ่มต้นได้ไม่นานนัก ดูเหมือนจะก้าวหน้าเอาเรื่องอยู่พอสมควรทีเดียว  หากนับจากการส่งยานที่มีมนุษย์ควบคุมขึ้นไปโคจรรอบโลก  มาเป็นยานที่ไม่ต้องใช้มนุษย์ควบคุม (ฉางเออร์1 ปี2007 ) จนถึงฉางเออร์2 (2010) ดูเหมือนจีนใช้เวลาในการพัฒนาน้อยกว่าฝั่งตะวันตกอยู่มาก  หากว่าในชั่วเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษจีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศได้ด้วยตัวเองขนาดนี้ เป็นเรื่องคาดเดาได้ไม่ยากเลยว่าในอีก 10-20 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีอวกาศของจีนจะไปถึงขั้นไหน แน่นอนว่าคงต้องใช้เวลาอีกมากหากจะไล่จี้ให้ทันชาติตะวันตก แต่ด้วยเงื่อนไขอื่นๆที่ดูจะได้เปรียบกว่า (ทั้งฐานะเศรษฐกิจปัจจุบันและจำนวนนักวิทยาศาสตร์ที่มากกว่า) นักวิชาการและนักวิจัยฝ่ายจีนจำนวนมาก ต่างมั่นใจว่าจีนจะสามารถกลายเป็นหนึ่งในผู้นำเทคโนโลยีอวกาศของโลกได้ในที่สุด ถึงขนาดที่ทำให้ผู้นำระดับสูงของพรรคฯ ออกมาประกาศเมื่อปลายปีที่แล้วว่าจีนจะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการสำรวจพรมแดนของจักรวาล  อีกทั้งยังได้ตั้งเป้าหมายว่าจีนจะสามารถสร้างสถานีอวกาศเพื่อการศึกษาทดลองในสภาวะไร้น้ำหนักได้ภายในปี 2016
              ในเวลานั้น ข่าวความก้าวหน้าของจีนในเทคโนโลยีอวกาศ ทำให้เกิดการคาดเดาต่างๆตามมาอีกมากจากนักวิเคราะห์ชาติตะวันตก  ตัวอย่างเช่น ข่าววงในเรื่องจีนวางแผนที่จะส่งยานสำรวจดาวอังคารภายในปี 2013 แม้จะยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนจากทางการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่ดูเหมือนประเทศแถบตะวันตกต่างก็คาดเดาไปในทิศทางเดียวกันว่า จีนคงมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การสำรวจชั้นบรรยากาศและธรณีสัณฐานของดาวอังคาร เพื่อประเมินศักยภาพเชิงเศรษฐกิจของแหล่งแร่และทรัพยากรที่อาจจำเป็นสำหรับโลกในอนาคต  การส่งยานอวกาศทั้งฉางเออร์1 และฉางเออร์2 จึงอาจไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการสำรวจดวงจันทร์แต่อย่างใด ทว่าเป็นการทดสอบเพื่อเบิกทางไปสู่การสำรวจดาวอังคารในอนาคตอันใกล้  โดยแนวทางการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีอวกาศของฝั่งตะวันตก สิ่งซึ่งจีนยังไม่มั่นใจคือระบบการสื่อสารทางไกลหากจะต้องส่งยานสำรวจที่ไม่มีมนุษย์ไปยังดาวอังคาร  เรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่วงการวิทยาศาสตร์เฝ้าจับตาการพัฒนาของจีนอย่างมาก ก็คือข่าวที่จีนประกาศว่าจะสร้างสถานีอวกาศที่มีลูกเรือประจำการให้สำเร็จในราวปี 2016-2020 บรรดาข่าวกรองและนักวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์อวกาศตะวันตก ต่างก็รอดูว่าสถานีอวกาศนี้จะมีวัตถุประสงค์ทางการทหารเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ เป้าสายตาที่เฝ้าดูกันอยู่ ก็คือตัวยานหลัก  Tiangong-1 (วิมานสวรรค์) และ Shenzhou-8 (ยานเทวะ) อันจะเป็นยานชุดแรกที่จะขึ้นไปประกบตัวเป็นส่วนกลางของสถานีอวกาศ ฐานส่วนกลางนี้ จะเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่าวัตถุประสงค์ระยะยาวของสถานีอวกาศจะเป็นไปเพื่ออะไร เพราะที่ทางการจีนประกาศไว้นั้น ยาน Tiangong1 เมื่อขึ้นไปประกบต่อเชื่อมแล้ว จะเป็นส่วนของสถานีทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่มีนักวิจัยและมนุษย์อวกาศอยู่ประจำ
                 มาบัดนี้จรวด Long March-2FT1 ได้นำยาน Tiangong1ส่งขึ้นสู่ตำแหน่งโคจร ที่340กิโลเมตรเหนือพื้นผิวโลกเรียบร้อยไปแล้วตั้งแต่เมื่อหัวค่ำของวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา หากไม่นับกระแสข่าวหุ้นตกที่เข้ามาบดบังแย่งพื้นที่หน้าหนังสือพิมพ์ ก็ต้องเรียกว่าเป็นข่าวใหญ่โตมากข่าวหนึ่งของสัปดาห์ที่ผ่านมา  ยาน Tiangong1นี้จะลอยโคจรอยู่ประมาณหนึ่งเดือนก่อนที่ Shenzhou หมายเลข8 ซึ่งเป็นยานอวกาศไร้คนขับจะเดินทางไปต่อเชื่อมแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีนักบินอวกาศควบคุม หลังจากนั้นก็จะตามด้วยยาน Shenzhouหมายเลข9 และหมายเลข10 ในอีกสองปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะมีนักบินอวกาศเดินทางขึ้นไปด้วยและจะทำการต่อเชื่อมโดยมือมนุษย์ชาวจีนเป็นครั้งแรกในอวกาศ  ยานหลัก Tiangong1 นี้ มีช่องต่อเชื่อมที่สามารถรับยานอื่นๆได้หลายลำ เพื่อให้บรรลุตามโครงการสถานีอวกาศสถานีแรกของจีน หลังจากที่สหรัฐอเมริกาและรัสเซียได้นำหน้าไปแล้วในการสร้างสถานีอวกาศเพื่อการศึกษาทดลองทางวิทยาศาสตร์  ที่สำคัญและอาจเป็นข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่หลายฝ่ายรอคอยสังเกตการณ์อยู่ ก็คือขนาดของยานหลัก Tiangong1 ที่มีปริมาตรภายในเพียง15ลูกบาศก์เมตร ชัดเจนว่าน่าจะเป็นสถานีอวกาศเพื่อการทดลอง มากกว่าที่จะมีศักยภาพในทางอื่นตามข่าวลือก่อนหน้านี้ สรุปว่านักคาดการณ์ทางการทหารก็ตกงานไปเรียบร้อย
                 นอกเหนือจากความสำเร็จที่จีนสามารถพัฒนาโครงการอวกาศของตนได้ตามแผนแล้ว การเข้าสู่วงโคจรของ Tiangong1 ยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ของจีน หายใจหายคอได้อย่างโล่งอกยิ่งขึ้น ด้วยเหตุว่าก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ค่ายตะวันตกจำนวนหนึ่ง ได้ตั้งข้อสังเกตวิจารณ์ว่าจรวดนำส่งตระกูล Long March ของจีน อาจไม่สามารถไว้ใจพึ่งพาได้ หากเจอกับงานใหญ่ๆ มีโอกาสที่จะทำผิดพลาดไปไม่ถึงวงโคจรหรือหลุดวงโคจรอะไรทำนองนั้น แม้ว่าจรวด Long Marchของจีนที่ทยอยพัฒนามาแต่ละรุ่น จะได้เคยส่งดาวเทียมทั้งของจีนและของต่างชาติ ขึ้นไปสู่วงโคจรโดยเรียบร้อยมาแล้วหลายสิบดวง แต่การนำส่งยานTiangong1 คราวนี้ จัดเป็นบทพิสูจน์อย่างสำคัญ ว่าจีนสามารถพัฒนาจรวดนำส่งตระกูล Long March นี้ ให้ถึงจุดที่สมบูรณ์เป็นมาตรฐานและสามารถไว้ใจพึ่งพาได้เต็มร้อย ทำให้เป็นประโยชน์และรับรองมาตรฐานความน่าเชื่อถือในอุตสาหกรรมดาวเทียมของจีนไปด้วยในตัว
               และเพื่อเป็นการยืนยันสมรรถนะของจรวดตระกูล Long March จีนก็เลยโฆษณาล่วงหน้าว่า ภายในปี 2020 จีนจะสามารถนำส่งชิ้นส่วนสถานีอวกาศน้ำหนักรวม 60 ตัน เพื่อขึ้นไปประกอบเป็นสถานีอวกาศที่สมบูรณ์ให้ได้ เรียกว่าเป็นการโฆษณาล่วงหน้าที่ท้าทายชาติมหาอำนาจทางอวกาศเจ้าอื่นๆ อย่างยิ่ง จะบอกว่าจีนเป็นตัวแทนชาวเอเชียในการแข่งขันทางเทคโนโลยีอวกาศ ก็ดูออกจะเป็นการตีขลุมแอบอ้างไปหน่อย แต่ผมก็ยังรู้สึกว่าเราน่าจะต้องส่งกำลังใจช่วยลุ้นให้กับนักวิทยาศาสตร์ชาวจีน ให้สามารถสานฝันได้สำเร็จ ทั้งหมดนี้เพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์นะครับ ไม่ใช่แข่ง Star War กัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น