ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ช่องว่างทางเศรษฐกิจ

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คอลัมน์คลื่นบูรพาหายหน้าไปนับเดือน ไม่ต้องอธิบายความมาก เพราะเป็นเหตุที่รับทราบกันโดยทั่วไปแล้ว ผมไม่ได้หนีไปเที่ยวที่ไหนเลย ทั้งต้องทำหน้าที่สู้กับน้ำไม่ให้เข้าท่วมที่ทำงาน พร้อมๆกับเตรียมการตั้งรับที่บ้าน หาทางหนีน้ำเช่นเดียวกับท่านผู้อ่านอีกเป็นจำนวนมาก ที่คงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเที่ยวนี้มากน้อยไปตามแต่ทำเลที่ตั้งของบ้านเรือน มาบัดนี้สถานการณ์เข้าที่เข้าทางแล้ว แม้หลายพื้นที่น้องน้ำจะยังอาลัยอาวรอ้อยอิ่งอยู่ แต่ก็ได้เวลากลับมาทำหน้าที่รับใช้ท่านผู้อ่านแล้ว คิดเสียว่าได้ปรับเปลี่ยนกิจวัตรหยุดงานหยุดการไปพักผ่อนพอแล้ว ขอกลับมาทำหน้าที่ให้เต็มกำลังครับ  ว่าไปแล้ว ในช่วงที่ไม่ได้เขียนบทความส่งการบ้านในคอลัมน์นี้ ทางประเทศจีนก็มีเหตุการณ์ข่าวสารตื่นเต้นน่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย  ผมเองเมื่อกลับมานั่งเตรียมต้นฉบับอยู่นี้ ยังอดเสียดายที่ไม่ได้นำเสนอข่าวผ่านคอลัมน์คลื่นบูรพาไปนับเป็นสิบๆ รายการ แต่ก็จะไม่ขอนำกลับมาเสนอให้ล้าสมัยตกข่าวกัน เอาเป็นว่าแล้วกันไป ขออนุญาตเดินหน้าจากประเด็นข่าวล่าสุดเลย
เมื่อสองวันที่ผ่านมานี้เอง กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคมของจีน ได้เผยแพร่รายงานการศึกษาปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของอุตสาหกรรมในจีนต่อสาธารณชน  ผมเห็นว่าเป็นประเด็นน่าสนใจ โดยเฉพาะหากจะใช้ศึกษาเปรียบเทียบเพื่อกำหนดมาตรการค่าจ้างแรงงานในประเทศไทยเรา ก็เลยจะขอนำมาขยายเล่าสู่กันฟังในสัปดาห์นี้  ตามรายงานระบุไว้ว่า ค่าจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมและพานิชยกรรมภาคต่างๆ ของจีน มีความแตกต่างเหลื่อมล้ำกันค่อนข้างมาก ตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อหัวของแรงงานในเขตเมืองเมื่อปี 2010 อยู่ที่ 20,759 หยวนต่อปี ในภาคธุรกิจส่วนตัว 36,539หยวนต่อปี และในภาคบริการสาธารณะ 70,146 หยวนต่อปี (กลุ่มธุรกิจการเงิน)  ในขณะที่แรงงานชนบทในภาคเกษตร มีรายได้เฉลี่ยต่อปีที่ 16,717หยวน จะเห็นได้ว่าค่าจ้างแรงงานของกลุ่มบนสุดเปรียบเทียบกับกลุ่มล่างสุด แตกต่างกันเกือบ 4 เท่าตัว
ในอีกด้านหนึ่งหากเปรียบเทียบระหว่างเมืองกับชนบท เราก็จะพบช่องว่างค่าจ้างแรงงานที่ขยายห่างเพิ่มมากขึ้น  จากข้อมูลของปี 2010 รายได้สุทธิ(หลังหักภาษีอันหมายถึงกำลังซื้อและความสามารถในการออม disposable income ) เฉลี่ยต่อครัวเรือน ในเมืองเท่ากับ 19,109หยวน ในเขตชนบทเท่ากับ 5,919หยวน  แตกต่างกันกว่า 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่ต่างกันไม่ถึงเท่าตัว ยิ่งไปกว่านั้น ความแตกต่างระหว่างพื้นที่หรือเขตเศรษฐกิจก็ยังคงสูง ในเขตมหานครขนาดใหญ่ เช่น เซี้ยงไฮ้ ค่าเฉลี่ยค่าจ้างแรงงานสูงสุดในประเทศ คือ ประมาณ 66,115 หยวนต่อปี ในขณะที่ค่าเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่27,735 หยวนต่อปี ในมณฑลเฮยหลงเจียง ในอีกมิติหนึ่ง ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยในกลุ่มพนักงานระดับบริหารเทียบกับพนักงานแรกเข้าทำงานก็ต่างกันมาก  ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จีน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 668,000 หยวนต่อปี สูงเป็น18 เท่าตัวของค่าจ้างเฉลี่ยทั่วประเทศ
ตัวเลขทั้งหมดที่นำเสนอไปข้างต้น เป็นผลจากการปรับเปลี่ยนทางเศรษฐกิจในช่วงไม่ถึง 20 ปีที่ผ่านมานี้เอง ความแตกต่างและช่องว่างทางเศรษฐกิจไม่ได้จำกัดอยู่พียงเรื่องของรายได้หรือค่าจ้างแรงงานเท่านั้น แต่ยังมีผลโดยตรงต่อความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคมรูปแบบต่างๆ ที่ตามมาอีกด้วย สำหรับสังคมจีนที่อ้างมาโดยตลอดว่าเป็นสังคมที่ปราศจากชนชั้น เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาล ผมเองไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรกับตัวเลขของปี 2010 ชุดนี้ เพราะก่อนหน้านี้เราก็ได้เห็นแนวโน้มการพัฒนาของเศรษฐกิจจีนที่กระจุกตัว หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นแนวทางการพัฒนาที่ยากจะหลีกเลี่ยงปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ การขยายตัวต่อเนื่องอย่างรวดเร็วปีแล้วปีเล่า เร็วเกินกว่าที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของจีนจะวิ่งตามทัน ในขณะที่นักบริหารและช่างฝีมือชั้นสูงมีจำนวนจำกัด แรงงานส่วนใหญ่ที่เหลือของจีน ยังคงขาดการพัฒนาและยกระดับความสามารถ  ตลาดแรงงานของจีนยังต้องใช้เวลาอีกมากในการพัฒนา เพื่อให้เกิดการแข่งขันและกำหนดค่าจ้างแรงงานตามกลไกที่ถูกต้องและตรงตามความเป็นจริง
ภาระหนักดูเหมือนตกอยู่กับรัฐบาลจีน  เพราะใครๆ ไม่ว่าภาคเอกชน ลูกจ้างแรงงาน หรือนักวิชาการทั้งหลาย ต่างก็ออกมาประสานเสียงกันว่ารัฐบาลจีนต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและช่องว่างนี้  แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก  เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้พยายามแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการออกมาตรการยกระดับและกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในเขตเมืองและชนบทของมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศ โดยในเบื้องต้นสัญญากับผู้ใช้แรงงานในเขตเมืองว่าจะพยายามเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำขึ้นอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 13 ในแต่ละปีต่อเนื่องกัน 5 ปี โดยหวังว่าภายในปี 2015 ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจะสามารถไล่ตามค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปีได้ทัน แต่ทั้งหมดนี้ก็ถูกมองว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างแรงงานได้  ทำได้อย่างมากก็เพียงวิ่งแข่งกับเงินเฟ้อและค่าครองชีพเท่านั้น ที่พอจะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้บ้าง ก็อาจจะได้แก่บรรดาแรงงานในเขตชนบท ที่ค่าครองชีพยังไม่ได้เพิ่มสูงรวดเร็วนัก แต่ปัญหาของแรงงานในชนบทก็ยังคงมีมากและอาจลำบากกว่า ตราบเท่าที่นโยบายการขยายงานและส่งเสริมการพัฒนาสู่ชนบทยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แรงงานจำนวนมากที่หางานไม่ได้ก็ยังคงต้องเสี่ยงเข้ามารับจ้างในเขตเมือง แม้รู้อยู่แก่ใจ ว่าท้ายที่สุดแล้วค่าจ้างที่ได้จะถูกท่วมทับด้วยค่าครองชีพที่สูงกว่า
                   ทั้งหมดนี้ผมไม่มีข้อสรุป อาจฟังดูเป็นปัญหาวัวพันหลักที่แก้ไปไม่รู้จบ และแน่นอน เป็นปัญหาที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศจีนที่เดียวครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น