ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อิทธิพลจีนในเกาหลีเหนือ

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
         ผมเองเคยเรียนท่านผู้อ่านมาหลายครั้งในคอลัมน์นี้ ว่าหากไม่จำเป็นก็จะไม่นำข่าวสดๆ มาเสนอในคลื่นบูรพาแข่งกับหน้าข่าวต่างประเทศทั้งหลาย โดยส่วนตัว ผมเองเชื่อว่าบางทีข่าวสดใหม่เกินไปก็ไม่ใช่ว่าจะเขียนได้ง่าย เพราะข่าวสดๆ ดิบๆ ส่วนใหญ่ยังไม่นิ่ง ยังไม่มีข้อยุติให้แสดงความคิดความเห็นเพิ่มเติมอย่างที่ควรจะเป็น เอามาเป็นประเด็นในคอลัมน์ขนาดยาว อาจหน้าแตกได้ในภายหลัง เมื่อปรากฏว่าทิศทางหรือพัฒนาการของข่าวสารชิ้นนั้นเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ดี สัปดาห์นี้ผมมีความจำเป็นต้องขอละเมิดแนวปฏิบัติที่ตัวเองตั้งไว้ จะขอนำเสนอข่าวอสัญกรรมของท่านอดีตผู้นำเกาหลีเหนือ นายคิม จองอิล สักหน่อย ส่วนหนึ่งเพราะอดใจไม่ได้ที่จะต้องพูดถึง อีกส่วนหนึ่งเพราะยังไม่ค่อยเห็นใครจะได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือที่อาจพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป
            ข่าวอสัญกรรมของอดีตผู้นำเกาหลีเหนือ เพิ่งจะเผยแพร่ออกสู่สังคมโลก (คงรวมทั้งชาวเกาหลีเหนือทั่วไปด้วย) เมื่อสายวันจันทร์ที่ผ่านมา แม้ว่าท่านอดีตผู้นำจะถึงแก่อสัญกรรมไปตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ด้วยโรคหัวใจวายบนขบวนรถไฟส่วนตัวระหว่างการเดินทาง ช่วงระยะทิ้งห่างที่ผู้เกี่ยวข้องระดับสูงพากันปิดข่าวเงียบ ก็ไม่ใช่สิ่งเหนือความคาดหมายเท่าใดนัก เพราะในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ ทางการเกาหลีเหนือเองคงต้องจัดการเรื่องต่างๆ มากมายเพื่อกุมสภาพสถานการณ์จนมีความมั่นใจ จึงได้เปิดเผยข่าวออกมา สื่อมวลชนตะวันตกส่วนใหญ่เชื่อกันว่า หนึ่งในเรื่องสำคัญที่จะต้อง “เคลียร์” กันให้จบก่อนเปิดเผยข่าวอสัญกรรม คือตัวทายาทผู้ที่จะมาสืบทอดอำนาจต่อ ตอนนี้เห็นว่าชัดเจนขึ้นเป็นลำดับว่าคงไม่หนีไปจากชื่อนายคิม จองอุน (บางสำนักข่าวเรียก คิม จอง อึน) บุตรชายคนเล็กอายุ 27 ย่าง 28 เพราะโฆษกรัฐบาลจีนก็ออกมารับรองเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าในแวดวงการทูตที่เปียงยาง จะมีเสียงซุบซิบกันว่าอำนาจแท้จริงทั้งหมดในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ อยู่ในกำมือของนาย จาง ซอง แต๊ก รองประธานกรรมาธิการกลาโหมแห่งชาติเกาหลีเหนือ น้องเขยวัย 65 ปีของคิม จอง อิล นอกเหนือไปจากการคาดเดาเกี่ยวกับการเปลี่ยนถ่ายอำนาจทางการเมืองแล้ว ประชาคมนานาชาติยังติดตามให้ความสนใจ และห่วงใยเป็นพิเศษในเรื่องผลกระทบที่จะมีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัญหาขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ตลอดจนปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ที่ยังเจรจาค้างคากันอยู่ เลยพอจะสรุปได้ว่าปฏิกิริยาที่มีต่อข่าวอสัญกรรมของอดีตผู้นำเกาหลีเหนือในตอนนี้ ส่วนใหญ่ดูจะเป็นเรื่องเฉพาะหน้า
                     อย่างไรก็ดี คำถามที่ผมเชื่อว่าจะตามมาในอีกวันสองวัน หรือในปลายสัปดาห์นี้ น่าจะเป็นประเด็นคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับเกาหลีเหนือภายใต้ผู้นำรุ่นใหม่ ประเทศเกาหลีเหนือจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร และเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลีต่อแต่นี้จะเป็นเช่นไรฯลฯ  ผมเองสาเหตุที่ติดใจตามข่าวนี้เป็นพิเศษ ก็เพราะโดยส่วนตัวเชื่อว่าต่อแต่นี้ไป จีนจะยิ่งมีบทบาทและอิทธิพลต่อเกาหลีเหนือเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมา หลายฝ่ายที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับเอเชียตะวันออก อาจจะบอกว่าจีนก็มีบทบาทมากอยู่แล้ว แต่ผมเชื่อของผมเองว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในเกาหลีเหนือจะมีเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ และส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากอิทธิพลหรือบทบาทที่มากขึ้นของประเทศจีน
             เฉพาะในปัจจุบัน เกาหลีเหนือต้องอาศัยพึ่งพาจีนเป็นอย่างมากอยู่แล้วทางเศรษฐกิจ  ในช่วงระยะปีครึ่งที่ผ่านมา เกาหลีเหนือภายใต้การนำของคิม จองอิล ได้ทำการทดลองเพื่อพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์และขีปนาวุธนำส่ง ท้าทายมหาอำนาจตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้ในทางการเมืองระหว่างประเทศ เกาหลีเหนือมีเพียงจีนประเทศเดียวที่ยังคงให้ความช่วยเหลือ  จากการวิเคราะห์ของนักวิชาการจีนและสถาบันยุทธศาสตร์สำคัญๆ ของจีน ที่เผยแพร่ผ่านสื่อจีนในวันสองวันนี้ระบุว่า นอกจากภาระทางเศรษฐกิจแล้ว แนวโน้มที่เกาหลีเหนือภายใต้ผู้นำใหม่ จะถูกทดสอบโดยเกาหลีใต้และชาติตะวันออกจะเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่จีนก็อาจต้องเข้าไปพัวพันช่วยเหลือจนเป็นภาระหรือขัดแย้งกับตะวันตกเพิ่มมากขึ้น มองกันว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการผลัดเปลี่ยนอำนาจ ผู้นำใหม่ค่ายคอมมิวนิสต์เช่นเกาหลีเหนือ ย่อมต้องออกมาแสดงอำนาจโชว์กันหน่อย ยิ่งได้ผู้นำอายุน้อย ก็อาจต้องยิ่งแสดงอะไรต่อมิอะไรให้ฝ่ายเกาหลีใต้และตะวันตกได้เกรงไว้ นักวิชาการจีนบางท่านมองว่า ช่วงต้นสองสามปีนี้ คิม จอง อุน อาจจะแสดงออกดุดันกว่าผู้พ่อเสียด้วยซ้ำไป ไม่ใช่ว่าจะมีอะไรเคืองเกาหลีใต้เป็นพิเศษ แต่เพื่อให้บรรดาผู้นำทางทหารของเกาหลีเหนือเองยอมรับในภาวการณ์นำของตน และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชนเกาหลีเหนือว่าเขาคือ “ตัวจริง” ไม่ใช่หุ่นเชิด และหากเป็นไปจริงในทิศทางนี้ จีนคงต้องเข้ารับหน้าแทนจนเหนื่อยแน่ นักยุทธศาสตร์จีนอีกกลุ่มหนึ่ง มองว่ายุคสมัยของคิม จองอุน อาจเป็นโอกาสดีที่เกาหลีเหนือจะปรับเปลี่ยนและเปิดกว้างยิ่งขึ้น เพราะอย่างน้อยก็บริหารปกครองโดยคนหนุ่มสมัยใหม่ ที่เคยศึกษาต่างประเทศมาแล้ว ไม่ว่าสถานการณ์จะออกมาแนวไหน เพื่อประโยชน์ในระยะยาวและดำรงอิทธิพลของจีนในภูมิภาคไว้ จีนอาจจำเป็นต้องเป็นฝ่ายริเริ่มผลักดันให้เกาหลีเหนือปฏิรูปทางการเมืองและทางเศรษฐกิจเพื่อความอยู่รอดให้ได้ในระยะยาว
                         แนววิเคราะห์หรือท่าทีที่สื่อจีนแสดงออกข้างต้น หากให้ผมแปลความเป็นภาษาไทย ก็คงแปลได้ว่า จีนจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวและขยายอิทธิในเกาหลีเหนือมากยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมาในสมัยของคิม จอง อิล เชื่อไม่เชื่อก็ต้องรอดูกันไปตอนที่การเปลี่ยนถ่ายอำนาจ และทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น