ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555

จากรถไฟฟ้าถึงการสวอปสกุลเงินไทย - จีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
            ข่าวการเดินทางมาเยี่ยมเยือนประเทศไทย ของรองประธานาธิบดีจีน นายสี จิ้นผิง เป็นข่าวใหญ่สำคัญของทั้งประเทศไทยและประเทศจีน อย่างชนิดที่คอลัมน์เล็กๆ เช่น คลื่นบูรพายังไงก็ต้องพูดถึง ไม่เช่นนั้นก็ถือว่าตกข่าวอย่างแรง ที่ว่าเป็นข่าวสำคัญ ก็เพราะตัวท่านผู้มาเยือนท่านนี้ ไม่เพียงเป็นรองประธานาธิบดีของประเทศยักษ์ใหญ่เช่นจีน แต่ยังเป็นผู้นำจีนรุ่นใหม่ที่ถูกวางตัวให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปของจีน สืบต่อจากนาย หู จิ่นเทา อีกประการหนึ่งที่การมาเยือนในคราวนี้มีความหมายพิเศษก็ด้วยเหตุที่ประเทศไทยและจีนได้บรรลุข้อตกลงและมีพิธีร่วมลงนามความร่วมมือสำคัญถึง 6 ฉบับ  และเป็นที่มาของหัวเรื่องที่ผมจะชวนคุยในวันนี้ นาย สี จิ้นผิง นับเป็นผู้นำจีนที่จัดว่าหนุ่มมาก อายุเพิ่งจะ 58 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทางนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิงหัว เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนมกราคมปี 1974 และผ่านตำแหน่งสำคัญๆ ของจีนมาเป็นลำดับ เช่น ตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ของมณฑลเจ้อเจียง รักษาการผู้ว่าราชการมณฑลเจ้อเจียง เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์นครเซี่ยงไฮ้ จนถึงปี 2007 จึงได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมให้เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญในส่วนกลาง ทำหน้าที่กรรมการประจำกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เลขาธิการสำนักเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน กรรมการสำรองของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 15  กรรมการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 16 และ 17 กรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน กรรมการประจำกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เลขาธิการของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 17 และเมื่อการประชุมพรรคฯปีที่ผ่านมา ที่ประชุมได้กำหนดตัวนายสี จิ้นผิงให้เป็นผู้สืบต่อตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯและตำแหน่งประธานาธิบดีแทนนายหู จิ่นเทา ที่จะครบวาระในอีก 1 ปี นายสี จิ้นผิง จะกลายเป็นผู้นำจีนที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์จีนใหม่
            ผมใช้พื้นที่ไปเสียเยอะในการแนะนำความเป็นมาของรองฯ สี จิ้นผิง ก็เพราะต้องการให้ท่านผู้อ่านได้ตระหนักว่าการมาเยือนคราวนี้มีความหมายและความสำคัญมาก และอาจเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การเจรจาความร่วมมือสำคัญๆ ที่ลงนามกันไปนั้นสำเร็จผลอย่างรวดเร็ว ข้อตกลงทั้ง 6 ฉบับได้แก่
            1. หนังสือรับมอบความช่วยเหลืออุทกภัย
            2. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืนไทย-จีน แบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และระบบรางอื่นๆ ด้านการพัฒนาระบบบริหารการจัดการน้ำอย่างครบวงจร ด้านการวิจัยพัฒนาพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน และด้านการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ในประเทศไทย
            3. สนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องหาตามคำพิพากษา เป็นการขอโอนและการรับโอนตัวผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาระหว่างไทยกับจีน
            4. แผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างปี 2554-2556 
            5. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางทะเล เป็นความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยด้านสมุทรศาสตร์ และระบบนิเวศวิทยา
            6. ความตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราแบบทวิภาคีระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับธนาคารกลางจีน เป็นสัญญาที่แลกเปลี่ยนเงินสกุลหยวนและเงินบาทระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางของประเทศจีน เพื่อช่วยส่งเสริมการลงทุนระหว่างกันและการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศมีอายุเวลา 3 ปีและมีวงเงิน 7 หมื่นล้านหยวน หรือ 3.2 แสนล้านบาท
            ผมสังเกตพบว่า สาธารณชนคนไทยเรารับรู้เรื่องราวข้อตกลงความร่วมมือมากมายในคราวนี้ แบบเงียบๆ ชอบกลอย่างไรอยู่ แม้จะมีเสียงโมทนาสาธุเห็นดีเห็นงามด้วยในบางเรื่องที่ตกลงกัน ก็ดูเหมือนจำกัดอยู่ในแวดวงนักธุรกิจบ้างส่วนเท่านั้น อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงแต่ละฉบับ ก็ไม่เห็นได้ออกมาแถลงชี้แจงรายละเอียดให้สาธารณชนรับรู้รับทราบ ว่าผล(ดี?)จากความร่วมมือเหล่านั้นจะนำพาประเทศไทยไปในทิศทางใด เห็นก็เพียงธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมาอธิบายความเพิ่มเติมนิดหน่อย ว่าการทำสวอปเงินข้ามสกุลระหว่าง บาท-หยวน จะช่วยขยายการค้าขายให้สะดวกยิ่งขึ้นมากน้อยอย่างไร แม้จะยังไม่ชัดเจนพอจะทำให้ชาวบ้านธรรมดาเข้าใจได้ แต่ก็ยังนับว่าได้ออกมาทำหน้าที่อธิบาย ต่างจากหน่วยงานอื่นๆ ที่ยังเงียบอยู่ เลยทำให้อดสงสัยใจไม่ได้ว่า บรรดาข้อตกลงความร่วมมือทั้งหลายที่ทำไปในคราวนี้ มีที่มาอย่างไร เป็นความประสงค์ร่วมกันที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายและผ่านการศึกษาวิเคราะห์ผลได้เสียมาอย่างดี มีรายละเอียดครบถ้วนแล้ว หรือเป็นเพียงกรอบความร่วมมือเปล่าๆกลวงๆ ที่ยังไม่มีรายละเอียด และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก็ยังงงๆ ว่าต้องทำอะไรต่อหรือไม่มากน้อยแค่ไหน ในทางตรงกันข้ามเมื่อมองจากบรรดาสื่อและเว็ปไซต์ของจีน ดูเหมือนเขาจะตื่นตัวและมีรายละเอียดมากมายออกมาเผยแพร่ หรือแม้แต่ข้อแนะนำว่าความร่วมมือเหล่านี้จะเป็นประโยชน์และธุรกิจประเภทใดควรจะรีบเข้ามาลงทุนในไทย อีกทั้งยังมีการวิเคราะห์ป้องกันความเสี่ยงด้วยการกู้เงินจากธนาคารพานิชย์ในประเทศไทยเปรียบเทียบกับการกู้เงินสกุลหยวนเพื่อนำเข้ามาลงทุนฯลฯ
            ผมเองคงไม่รู้สึกเดือดร้อนเท่าไรนัก หากประเด็นข้อตกลงจะเป็นเพียงกรอบเปล่าๆกลวงๆ ไม่ได้ตั้งใจจะอะไรจริงจัง แต่พอดูในรายละเอียดคร่าวๆ แต่ละรายการเช่นเรื่องรถไฟความเร็วสูง ผมว่ามูลค่าคงจะหลายแสนล้านอยู่ เรื่องแบบนี้ คนไทยทั่วไปไม่ต้องรับรู้หรือเอามาคุยกันหน่อยหรือครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น