ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

สรุป 10 ข่าวเด่นเศรษฐกิจจีนรอบปี 2011

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

                อย่างที่ได้ทิ้งท้ายเรียนท่านผู้อ่านไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วันนี้ผมจะขอนำเสนอสรุป 10 ข่าวเด่นทางเศรษฐกิจในช่วงปี2011ที่ผ่านมา ทั้งสิบอันดับที่จะนำเสนอนี้ ขอเรียนว่ามาจากแหล่งข่าวต่างๆของจีน ผมขออนุญาตจัดอันดับเอาเองตามที่เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ หรือจะว่าตามใจชอบของผมก็ได้ ท่านผู้อ่านอย่าถือสาหรือเอาไปอ้างอิงนะครับ หากประสงค์จะเอาไปอ้างอิงเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจหรือเอาไปทำรายงานส่งอาจารย์ ผมขอแนะนำให้เข้าไปดูการจัดอันดับ 10 ข่าวเศรษฐกิจเด่นปี2011ของสำนักข่าวเหรินหมิน หรือของซินหัว ก็ได้ ทั้งสองแหล่งนั้นจะเป็นทางการกว่า แต่ก็อย่างว่าแหละครับ นักวิจารณ์ทางเศรษฐกิจนานาชาติเขายังรู้สึกว่าสำนักข่าวทางการที่เป็นตัวแทนราชการจีน อาจจัดอันดับข่าวเด่นข่าวดังด้วยเหตุผลหลายอย่าง ไม่ใช่เพียงเพราะว่ามันเป็นเรื่องใหญ่จริงๆก็ได้ สำนักวิเคราะห์ตะวันตกส่วนใหญ่ก็ทำแบบที่ผมกำลังจะทำนี้แหละ คือจัดอันดับเอาเสียเองเลย ขอเข้าเรื่องเลยนะครับ
                         อันดับที่1 บทบาทเงินสกุลหยวนในตลาดโลกและภูมิภาค นับตั้งแต่ต้นปี2011 รัฐบาลจีนโดยธนาคารแห่งชาติของจีน ได้ออกประกาศเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติในการอนุญาตให้ธนาคารและธุรกิจจีน สามารถส่งออกเงินกู้และการลงทุนไปต่างประเทศในรูปสกุลเงินหยวน มาเมื่อเดือนตุลาคม 2011 ธนาคารชาติของจีนก็ออกประกาศระเบียบว่าด้วยการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติ สามารถลงทุนในประเทศจีนในรูปสกุลเงินหยวน ทั้งสองเรื่องนี้แน่นอนว่าทำให้บทบาทของเงินหยวนในตลาดการเงินโลกคึกคักเพิ่มมากยิ่งขึ้นอย่างชัดเจน และที่สำคัญทำให้ธนาคารสัญชาติจีนขยายตัวเปิดสาขาหรือสำนักงานตัวแทนในต่างประเทศอย่างคึกคัก
                 อันดับที่2 อุตสาหกรรมรถยนต์จีนขยายตัวต่ำสุดในรอบ13ปี เมื่อเทียบเคียงกับปี2010 การผลิตรถยนต์ประเภทต่างๆของจีนลดลงร้อยละ31.6 ในขณะที่มูลค่าการขายลดลงร้อยละ29.9 ทำให้ตัวเลขทั้งปีของอุตสาหกรรมรถยนต์จีนในปีที่ผ่านมาเลวร้ายที่สุดในรอบ13ปี แม้ยังมีการขยายดัว แต่ก็เทียบไม่ได้เลยกับอัตราการขยายตัวของหลายปีก่อนหน้า


                อันดับที่3  ปริมาณสำรองเงินต่างประเทศทะลัก ธนาคารชาติจีนประกาศเมื่อวันที่13ที่ผ่านมานี้ว่า ปริมาณเงินสำรองที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศที่มีสะสมอยู่ณสิ้นปี2011 มีมูลค่ารวมสูงถึง 3.18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อปี2010 ซึ่งมีอยู่ ณ สิ้นปีนั้น2.85 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เห็นตัวเลขแล้วปวดหัว คงไม่ต้องอธิบายความนะครับ ว่าสถานะทางการเงินของจีนเข้มแข็งขนาดไหน
                อันดับที่4 เหล้าเหมาไถ กลายเป็นแบรนด์ดังอันดับ 4 ของโลก อันนี้เป็นรายงานการจัดอันดับของนายหูหรุ่น แม้จะเพิ่งประกาศผลรางวัลในเดือนนี้ แต่ก็เป็นข้อมูลตัวเลขที่รวบรวมจากปีที่แล้ว ยี่ห้อของเหมาไถ (เฉพาะมูลค่าของแบรนด์นะครับ ไม่ใช่มูลค่าผลิตภัณฑ์ทั้งหมด) มีมูลค่าในตลาดโลกสูงถึง 12,000ล้านเหรียญสหรัฐ
               อันดับที่5 ภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจีนทะลุ 256,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ13.8 ส่วนใหญ่ก็เป็นภาษีที่ได้จากการนำเข้าพลังงาน สินแร่เหล็กและถั่วเหลือง นอกจากนี้สินค้านำเข้าประเภทฟุ่มเฟือยก็มีเพิ่มมากขึ้น
              อันดับที่6 ครบรอบ 10ปี จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ในช่วงสิบปีนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ที่สำคัญจีนได้ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีลดลงจาก 15.3 เหลือ 9.8 ตามเงื่อนไขขององค์กรการค้าโลก ที่น่าทึ่งกว่านั้นก็คือ จีนอ้างว่าได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและของท้องถิ่นไปทั้งสิ้นกว่า 192,300 ฉบับ ใน 10 ปีที่ผ่านมา
            อันดับที่7 การเพิ่มกำลังซื้อด้วยการลดภาษีเงินได้ จีนได้ประกาศแก้ไขกฎหมายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาฉบับใหม่ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่1 กันยายน 2011เป็นต้นมา สาระสำคัญคือ ขยับเพิ่มเงินได้ขั้นต่ำที่จะต้องเสียภาษีจาก2,000หยวนไปเป็น3,500หยวนต่อเดือน อีกทั้งยังปรับแก้อัตราภาษีขั้นบันไดแรกจากเดิมร้อยละ5เป็นร้อยละ3(กลุ่มผู้มีรายได้ช่วง 3,500-4,500 หยวนต่อเดือน) ทำให้ฐานภาษีบุคคลธรรมดาที่กินเงินเดือนหายไปเยอะ จากเดิมร้อยละ 28 ของมนุษย์เงินเดือนต้องจ่ายภาษี เหลือเพียงแค่ร้อยละ7.7 เท่านั้น โดยหวังว่ามาตรการใหม่นี้จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้ตลาดจีนได้อีกมาก
              อันดับที่8  กำหนดโควตาซื้ออสังหาฯ ข่าวหลายปีติดต่อกันมาเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของจีนมักออกมาในแนวว่า ร้อนระเบิด ฉุดไม่อยู่ อะไรทำนองนั้น มาในปี2011กลับปรากฏว่าราคาต่อหน่วยของอสังหากริมทรัพย์จีนตามหัวเมืองใหญ่ๆ ลดวูปลงไม่ร้อนแรงอย่างที่เคย สาเหตุหลักก็มาจากมาตรการกำหนดข้อจำกัดในการเช่าซื้อหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อป้องกันการเก็งกำไร อันส่งผลให้คนทำงานหาเช้ากินค่ำที่ต้องการที่อยู่อาสัยจริงๆพากันเดือดร้อนเพราะเหตุบ้านราคาแพงเกินอุปสงค์จริงของตลาด เฉพาะอย่างยิ่งในหัวเมืองใหญ่ๆ หลายสิบแห่งของจีน ที่มีปัญหานี้กันมาก เชื่อกันว่ามาตรการนี้น่าจะใช้ได้ผลดีในระยะหนึ่ง สามารถฉุดราคาบ้านลงมาได้ แต่ในระยะยาวคนที่หวังเก็งกำไรก็อาจพลิกแพลงหาหน้าม้ามาจองซื้อแทน ต้องรอดูกันต่อไป
              อันดับ9 ข่าวท้องถิ่นจีนออกพันธบัตร เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลกลางที่ปักกิ่ง ได้อนุญาติให้รัฐบาลท้องถิ่นของจีนจำนวน4แห่ง ได้รัฐบาลนครเซี้ยงไฮ้ นครเสิ่นเจิ้น รัฐบาลมณฑลเจ้อเจียง และรัฐบาลมณฑลกวางตง ทดลองนำร่องออกจำหน่ายพันธบัตร เพื่อระดมเงินมาใช้ลงทุนในโครงการต่างๆ จะเรียกว่าเป็นมิติใหม่ก็ได้ และเชื่อว่าปีใหม่นี้อาจมีการอนุญาตเพิ่มเติมอีก
               อันดับที่10 รถไฟฟ้าความเร็วสูง ปี2011เป็นปีที่สร้างชื่อทั้งทางบวกและทางลบให้กับอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าความเร็วสูงของจีน เริ่มต้นด้วยความสำเร็จในเทคโนโลยีสัญชาติจีนที่พัฒนาต่อยอดจากเยอรมันนีและญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการเจรจาลงทุนในต่างประเทศทั้งเวียตนาม พม่า ลาว และประเทศไทย แล้วอยู่ๆก็เกิดเหตุระบบขัดข้องตกรางเอาเสียเองในประเทศ กลายเป็นข่าวดังเสียหายไปหมด
                         สัปดาห์นี้ว่ากันเนื้อๆแน่นๆ หมดหน้ากระดาษแล้วครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น