ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แรงงานจีนกับปรากฏการณ์ฆ่าตัวตาย

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกเหนือจากรายงานข่าวการส่งยานอวกาศเสิ้นโจวหมายเลข 9 ขึ้นไปต่อเชื่อมกับสถานีอวกาศเทียนกงได้สำเร็จ ก็ดูเหมือนไม่มีเหตุการณ์ตื่นเต้นอะไรเท่าไรนักในสื่อพื้นฐานหลักๆของจีน วนเวียนเปิดหาตามหนังสือพิมพ์และ เว็บไซต์ต่างๆที่เคยอาศัยพึ่งพา ก็ไม่พบเรื่องราวน่าสนใจที่จะนำมาเสนอท่านผู้อ่านที่รัก จนท้ายที่สุด ผมก็เลยต้องอาศัยสำรวจตรวจข่าวสารจากแหล่งอื่นๆของสื่อฝรั่งแทน ไปพบข่าวเล็กๆเกี่ยวกับแรงงานจีน ในเว็บไซต์ของสำนักข่าวเอพี เกี่ยวกับการโดดตึกฆ่าตัวตายของคนงานโรงงานแห่งหนึ่งในประเทศจีน เกือบจะมองข้ามข่าวชิ้นนี้ไปแล้ว แต่เพราะเห็นชื่อโรงงาน Foxconn Technology Group ถึงได้สะดุดใจหยุดอ่านโดยละเอียด เพราะจำได้ว่าโรงงานชื่อเดียวกันนี้ ได้เคยเกิดเหตุคนงานฆ่าตัวตายมาแล้วหลายครั้ง
Foxconn Technology Group เป็นหนึ่งในบริษัทผลิตชิ้นส่วนหลักที่ส่งป้อนให้กับโรงงานประกอบเครื่องIPhoneและ IPadนอกจากนี้ก็ยังผลิตชิ้นส่วนจำนวนมากให้กับ Dell,HP, Motorola, Nintendo, Sony และ Nokia ว่าจ้างแรงงานชาวจีนทั้งประจำและชั่วคราวกว่าหนึ่งล้านคน มีโรงงานสาขา12โรงงานกระจายอยู่ในหลายมณฑล แต่มีโรงงานหลักที่ใหญ่สุดอยู่ในเมืองเสิ่นเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง(มีคนงานกะต่างๆรวมเกือบ4แสนคน) ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและบรรดานักสิทธิมนุษย์ชนอย่างมาก ตั้งแต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ฆ่าตัวตายของคนงานเป็นครั้งแรกในปี 2007แต่ที่ครึกโครมเป็นข่าวไปทั่วโลกและเสียชื่อมากที่สุด เป็นเหตุการณ์ฆ่าตัวตายต่อเนื่องของคนงานทั้งชายทั้งหญิงจำนวน15คน(ตาย14) ในปี2010  การฆ่าตัวตายหมู่ในปีนั้น ทำให้เกิดแรงกดดันอย่างมากกับทั้ง บริษัทApple Inc.  และ Foxconn นำไปสู่กระบวนการปรับปรุงระบบสวัสดิการและการจ่ายค่าแรงงานเพิ่ม บางโรงงานต้องติดตั้งตาข่ายกันคนโดดจากหลังคาตึก รวมทั้งการตัดชั่วโมงการทำงานในแต่ละกะ จากเดิม12ชั่วโมง ให้ลดลงเป็น3กะต่อวันกะละ8ชั่วโมง นอกจากนี้แล้ว ยังส่งผลกระทบไปถึงโรงงานอื่นๆในจีน ถูกสังคมและบรรดาNGO ตะวันตกจับตา เฉพาะในแวดวงมหาวิทยาลัยของจีน กรณีฆ่าตัวตายปี 2010 ทำให้เกิดศูนย์และสถาบันศึกษาเกี่ยวกับสวัสดิการแรงงานจีนจัดตั้งขึ้นมากว่า20แห่ง มีวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและเอกที่ทำการศึกษาวิจัยเจาะลึกปัญหาเหล่านี้ นับหลายร้อยหัวเรื่อง
มาในปี 2011 คนงานอีก 4รายของโรงงานแห่งนี้ก็พยายามฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดจากตึกที่พักอีก เหตุการณ์ล่าสุดเมื่อ 14 มิ.ย.นี้ ถ้าอ่านจากสื่อฝรั่ง ได้ความเพียงว่าผู้ตายเป็นชายวัย23ปี กระโดดลงมาจากห้องพักคนงานที่อยู่แยกจากบริเวณโรงงานแห่งหนึ่งของ Foxconn ในเมืองเฉิงตูมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกของประเทศจีน ผู้ตายเพิ่งเข้ามาทำงานในโรงงานแห่งนี้ยังไม่ถึงเดือน เหตุการณ์ฆ่าตัวตายล่าสุดนี้เกิดขึ้นทั้งๆที่รัฐบาลจีนก็ดี โรงงานFoxconnก็ดี ต่างออกมาให้ข่าวว่าแก้ไขปรับปรุงสวัสดิการสารพัดไปแล้ว เลยเกิดเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมา ว่าตกลงอะไรเป็นสาเหตุแห่งการฆ่าตัวตายของคนงานชาวจีนเหล่านี้ แน่นอนสังคมจีนก็มีเรื่องงมงายแบบเดียวกับเรา ในโซเชียลเน็ตเวิร์คของจีนเลยมีการลือกันว่าสาเหตุสำคัญไม่ใช่เรื่องสวัสดิการ แต่เป็นปัญหาเรื่องฮวงจุ้ยหรือเรื่องวิญญาณไปโน้นเลย ลือกันทำนองว่าที่ตั้งโรงงานที่มีปัญหาเหล่านี้ ไปก่อสร้างทับอาถรรพ์บางอย่าง หรือไม่ก็ลือกันว่าวิญญาณของผู้ตายรายแรกๆ พยายามชักชวนให้รายต่อๆมาฆ่าตัวตายตาม ทำนองตัวตายตัวแทน แต่ที่แปลกคือ สื่อหลักๆของจีนทั้งหนังสือพิมพ์และทีวี ดูเหมือนเลี่ยงที่จะทำข่าวปัญหานี้
เช่นเดียวกับปัญหาความเครียดของครอบครัวชาวจีนในชนบทที่ผมเคยนำเสนอไปแล้วในเดือนก่อน แรงงานอพยพของจีนก็มีปัญหาความเครียดและสุขภาพจิตไม่น้อยไปกว่ากัน การต้องเดินทางออกหางานทำต่างมณฑล ห่างไกลจากบ้านเกิดและครอบครัวลูกเมียนับพันกิโลเมตร ย่อมไม่ใช่เรื่องน่าสนุกนัก ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในยามเศรษฐกิจรุ่งหรือเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างปัจจุบัน การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการทำเกษตรในผืนดินบ้านเกิดที่เห็นผลผลิตจับต้องได้ อิ่มท้องได้ เลี้ยงลูกเมียได้ มาเป็นการผลิตในโรงงานที่ซ้ำซาก จับต้องแต่ชิ้นงานที่เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นประเด็นทางวิชาการที่นักสังคมศาสตร์ทั่วโลกให้ความสนใจศึกษามาช้านาน ทุกครั้งเมื่อสังคมหนึ่งๆเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรม สังคมในหมู่ผู้ใช้แรงงานที่ถูกจำกัดบริเวณเฉพาะในเขตโรงงานและอาคารหอพัก ก็ใช่ว่าจะช่วยอะไรได้ เพราะต่างก็ประสบปัญหาอมทุกข์ไม่ต่างกัน ยิ่งจับกลุ่มปรับทุกข์ก็ยิ่งเครียดยิ่งเซ็งหนักเข้าไป Foxconnจึงไม่ใช่โรงงานเดียวที่ประสบปัญหาความเครียดและการฆ่าตัวตายของคนงาน ทั่วทั้งประเทศจีนอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ค่าเฉลี่ย20รายในประชากรทั่วไป1แสนคน และ17รายต่อประชากรวัยแรงงาน1แสนคน ฉะนั้นหากว่ากันอย่างเป็นธรรม จำนวนการฆ่าตัวตายของคนงานใน Foxconn ก็ยังจัดว่าต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศจีน
ผมเองติดตามค้นข้อมูลข่าวชิ้นนี้เพื่อมานำเสนอท่านผู้อ่านที่รัก ด้วยความรู้สึกที่หดหู่ และเริ่มสงสัยในสิ่งที่เรียกว่า มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของจีนและที่น่าหดหู่กังวลมากกว่านั้น ก็คือผลกระทบที่สังคมจีนทั้งมวลต้องแบกรับในระยะยาว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น