ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

จีนกับภาพรวมยุทธศาสตร์ทางทะเลในเอเชีย-แปซิฟิก


 โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ก่อนอื่นผมต้องขออนุญาตเรียนท่านผู้อ่านที่รักว่า ไม่ได้คิดจะเกาะกระแสเรื่องนาซ่าขอใช้สนามบินอู่ตะเภานะครับ เพราะขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ยังไม่ทราบเลยว่าคณะรัฐมนตรีมีมติพิจารณาเรื่องดังกล่าวนี้อย่างไร แต่ที่สัปดาห์นี้ผมจั่วหัวคอลัมน์เป็นยุทธศาสตร์ทางทะเล ก็เพราะมีปรากฏการณ์ที่เป็นข่าวเกิดขึ้นในประเทศจีนต่อเนื่องกันหลายเรื่อง ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างจีน อาเซียน และสหรัฐอเมริกาทั้งสิ้น ทำให้ผมรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างที่เป็นเรื่องใหญ่สำคัญกำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ จะไม่พูดถึงเลยคงไม่ได้ ส่วนท่านผู้อ่านที่รักที่สนใจติดตามข่าวการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาขององค์การนาซ่า คงสามารถหาอ่านเอาได้จากรายงานข่าวประจำวันที่มีอยู่แล้ว หรือหากประสงค์จะทราบปฏิกิริยาของจีนต่อเรื่องนาซ่านี้ ก็อาจหาดูได้จากหนังสือพิมพ์ไทยที่ไปดักสัมภาษณ์พิเศษกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนนางฟู่ อิง ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย เช่นเดียวกับสามารถติดตามจากบทสัมภาษณ์ นายจิง จื้อหยวน กรรมาธิการทหารของประเทศจีน ที่เดินทางมาเยือนกระทรวงกลาโหมไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งสองท่านได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องสนามบินอู่ตะเภาและองค์การนาซ่า ในรายงานข่าวของสื่อแขนงต่างๆ ชัดเจนพอสมควร ผมจะขอชวนข้ามไปคุยในภาพที่ใหญ่กว่า
            เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก่อนหน้าสงกรานต์บ้านเราเล็กน้อย ท่านผู้อ่านที่รักที่สนใจติดตามข่าวสารจากต่างประเทศ คงจำได้ว่าเกิดเหตุมีเรือประมงของจีนสิบกว่าลำ ถูกทางการฟิลิปปินส์กล่าวหาว่าเข้าไปจับปลาล้วงล้ำอนาเขตเศรษฐกิจทางทะเลของงฟิลิปปินส์ เลยส่งเรือออกไปจับควบคุมลูกเรือทั้งหมดของจีนไว้ ในขณะที่ฝ่ายจีนก็ยืนยันว่าเรือประมงของจีนแวะไปหลบพายุในอ่าวกันลมของเกาะหวงยาน อันเป็นเขตอ้างอธิปไตยของฝ่ายจีน กลายเป็นประเด็นพิพาทและนำไปสู่วิกฤติการณ์ต่อความสัมพันธ์ของสองประเทศยืดยาวต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ก็ยังเคลียร์กันไม่จบ นอกจากสถานการณ์จะไม่ดีขึ้นมาแล้ว ฝ่ายจีนก็ยังตั้งข้อสังเกตต่อเวทีโลกในโอกาสต่างๆว่า สหรัฐอเมริกาเองก็อาศัยความขัดแย้งในภูมิภาคดังกล่าว เป็นเงื่อนไขในการหวนกลับเข้ามาสร้างอิทธิพลในเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้น อย่างในเวทีที่ประชุม Shangri-La Dialogue จัดที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีรัฐมนตรีกลาโหมและผู้บัญชาการทหารจากประเทศต่างๆในเขตเอเชียแปซิฟิก มาร่วมประชุมกว่า 28ประเทศ จีนก็ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐมนตรีกลาโหมตัวแทนสหรัฐอเมริกา Leon Panetta ประกาศว่าสหรัฐอเมริกาจะพิจารณาปรับสัดส่วนกองกำลังทางทะเลระหว่างเขตแปซิฟิกและแอตแลนติก จากเดิม 50/50 มาเป็น 60/40 เท่ากับเป็นการประกาศเพิ่มกองกำลังทางทะเลของสหรัฐอเมริกาในแถบเอเชียแปซิฟิกครั้งใหญ่นับแต่สิ้นสุดสงครามเวียดนาม ทั้งๆที่ยังไม่ปรากฏเหตุความจำเป็นใดๆ หรือมีภัยคุกคามเพิ่มขึ้นต่อผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้ จึงมองเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากจะสรุปว่าว่ามีเป้าหมายหลักที่จะปิดล้อมและคุกคามจีน ยิ่งไปกว่านั้น หลังการประชุมที่สิงคโปร์เสร็จสิ้น สหรัฐอเมริกาก็ประกาศแผนการซ้อมรบร่วมทางทะเลครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การซ้อมรบทางทะเล(RIMPAC-2012) ในน่านน้ำเอเชียแปซิฟิก RIMPAC เป็นการซ้อมรบร่วมที่จัดปีเว้นปี เริ่มมีมาตั้งแต่ยุคทศวรรษที่1970 นำโดยสหรัฐอเมริกา วัตถุประสงค์เดิมเพื่อเป็นสัญลักษณ์สกัดกั้นการขยายอำนาจทางทะเลของสหภาพโซเวียตในยุคนั้น สำหรับการซ้อมรบทางทะเล RIMPAC-2012 ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน ถึงวันที่ 3 สิงหาคมปีนี้ จะมีประเทศต่างๆเข้าร่วม22ประเทศ มีเรือรบขนาดใหญ่42ลำ เรือดำน้ำ6ลำ เครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงกว่า200ลำ บุคลากรทางทหารเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า25,000นาย แม้แต่กองทัพเรือรัสเซีย ก็จะเข้าร่วมการซ้อมรบในคราวนี้ด้วย จัดว่าเป็นการซ้อมรบใหญ่ที่สุด ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลกว้างขวางตลอดซีกใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก
นักวิเคราะห์ของจีนมองไปในทิศทางแนวเดียวกันว่า การหวนคืนสู่ตะวันออกครั้งใหม่ของสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่เรื่องอื่นใด นอกจากจะปูทางให้สหรัฐกลับมาขยายอิทธิพลแทรกแซงทางการเมือง และแข่งขันกับจีนในการหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คือ ศูนย์กลางขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในอนาคตอันใกล้  นอกเหนือไปจากการซ้อมรบครั้งใหญ่RIMPAC-2012 แล้ว สหรัฐอเมริกายังมีกิจกรรมความร่วมมือทางการทหารและการซ้อมรบย่อยอื่นๆ ในภูมิภาคนี้อีกหลายกิจกรรม รวมทั้งกับประเทศไทยเราด้วย
 
ในด้านกองทัพปลดแอกของจีนเอง ช่วงระยะกว่าสิบปีมานี้ ก็มีพัฒนาการความร่วมมือทางการทหารที่น่าสนใจเช่นกัน แม้ในช่วงแรกๆจะเป็นกิจกรรมความช่วยเหลือทางการทหารที่ให้กับประเทศกลุ่มเอเชียกลางและ อัฟริกา แต่ระยะหลังการซ้อมรบร่วมกับประเทศในเขตเอเชียแปซิฟิกก็เริ่มมีมากขึ้น ไวๆนี้ รัฐมนตรีช่วยกลาโหมและรองประธานาธิบดีจีน ก็เดินสายเรียกร้องให้มีความร่วมมือทางการทหารและการรักษาความมั่นคงระหว่างเยือนประเทศต่างๆในกลุ่มอาเซียนครบเกือบทุกประเทศ ล่าสุดเมื่อ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา กรรมาธิการทหารของจีน นายจิง จื้อหยวน ก็เพิ่งจะเข้าพบรัฐมนตรีกลาโหมของเรา ข่าวปรากฏเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์จีนทุกฉบับว่า รัฐบาลไทยและจีนโดยกองทัพทั้งสองฝ่าย จะเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น ทั้งการแลกเปลี่ยนบุคลากร การฝึกร่วมทางยุทธวิธี การให้คำปรึกษาทางความมั่นคง การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการช่วยเหลือยามเกิดภัยพิบัติ
ผมเองไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่เชื่ออย่างสนิทใจว่าชาติต่างๆในอาเซียน รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย ต่อไปจะต้องเนื้อหอมมากๆ เพราะเดี๋ยวก็จีนมาจีบ เดี๋ยวก็อเมริกามาจีบ หัวกระไดบ้านไม่แห้ง แต่ธรรมดาสาวสวยก็มักมีเรื่องต้องหนักใจ เพราะท้ายที่สุดแล้วคงหนีไม่พ้นต้องถูกสถานการณ์บีบให้เลือกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ถึงตอนนั้น เรื่องสนามบินอู่ตะเภาถือว่าเป็นเรื่องเล็กมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น