ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

15 ปีที่ผ่านไปของฮ่องกง


โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันอาทิตย์ที่1กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ15 ปีแห่งการหวนคืนสู่จีนแผ่นดินใหญ่ของเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ไม่น่าเชื่อว่าเผลอแป๊บเดียว 15 ปีแล้ว จำได้ว่าเพิ่งจะไวๆนี้เอง ที่นักวิจารณ์วิเคราะห์ทั้งหลายยังถกเถียงกันเกี่ยวกับอนาคตของเกาะฮ่องกง ว่าจะซบเซาหมดความหมาย เพราะตกเป็นรองมหานครเซี้ยงไฮ้ ที่จีนหมายมั่นปั้นให้เป็นศูนย์กลางการเงินการค้าแห่งภูมิภาคตะวันออก หรือจะเจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องในฐานะประตูการค้าสำคัญของบรรดามณฑลต่างๆทางใต้ของแผ่นดินใหญ่ มาวันนี้เรื่องหลายเรื่องก็ได้คำตอบเรียบร้อยไปแล้ว โดยเฉพาะแนวทางบริหาร หนึ่งประเทศสองระบบ(ที่จริงหากแปลตรงตามความหมายในภาษาจีน น่าจะเป็น สองนโยบาย)ที่ดูจะทำงานได้ดี ทั้งในฮ่องกงและในมาเก๊า แต่ก็ยังมีข้อกังขาในเรื่องราวอีกหลายประเด็นของชีวิตผู้คนบนเกาะเล็กๆแห่งนี้ ก็ยังไม่มีคำตอบหรือบทสรุปชัดเจนนัก เช่นเรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องความโปร่งใสและความเป็นประชาธิปไตย ผมในฐานะที่อ้างตัวว่าสนใจติดตามเรื่องราวในประเทศจีน เลยต้องเฝ้าดูเฝ้าตามข่าวสาร และนำมาเป็นประเด็นชวนท่านผู้อ่านที่รักคุยในสัปดาห์นี้
สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของจีน แพร่ภาพรายงานการจัดพิธีบนเกาะฮ่องกงมาตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้ว ด้วยเหตุที่ท่านประธานฯหู มีกำหนดเดินทางมาร่วมงานพิธีรำลึกโอกาสครบรอบ15ปี ตั้งแต่วันศุกร์ และอยู่ร่วมพิธีอื่นๆต่อเนื่องมาถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่การตรวจเยี่ยมโครงการเขตพัฒนาใหม่เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยรองรับผู้มีรายได้น้อยของการเคหะฯฮ่องกง เป็นประธานในพิธีเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงของนายเหลียง เจิ้นอิง(สำเนียงกวางตุ้งในฮ่องกงออกเสียงเป็น ชุ่นหยิง) ซึ่งจะเป็นผู้บริหารลำดับที่4 นับแต่ฮ่องกงกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจีน รวมทั้งยังไปเป็นประธานงานพิธีอื่นๆของภาคเอกชนอีกหลายงาน จากภาพข่าวที่ติดตามดู ก็ต้องถือว่างานที่จัดในปีนี้อลังการยิ่งใหญ่ไม่แพ้งานอื่น มีไฮไลท์สำคัญๆเยอะแยะ ที่ได้รับการกล่าวขานมากเป็นพิเศษ ก็คือ การที่ท่านประธานฯหู จินเทา ขึ้นไปร่วมร้องเพลงบนเวที โดยมีดาราค้างฟ้าอย่างคุณป้าหวัง หมิงฉวน ปะกบอยู่(คุณป้าเคยเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางการเมืองรัฐบาลจีน-ฮ่องกง ระหว่างปี ค.ศ.2003-2008) ในฐานะที่เป็นคนนอก ภาพรวมที่ได้รับชมจากสื่อทางการจีน ต้องยอมรับว่าดูดีเป็นอย่างยิ่ง
มาเมื่อวันจันทร์นี้เองขณะที่ผมกำลังอ่านข่าวจากเว็บไซต์ของสำนักข่าวBBC   สายตาก็พลันเหลือบไปเห็นรายงานข่าว การชุมนุมประท้วงของคนจีนในฮ่องกง จากภาพข่าวดูใหญ่โตจริงจังมาก พออ่านรายละเอียดดู ก็พบว่าเป็นการเดินขบวนประท้วงในระหว่างการเดินทางมาฮ่องกงของประธานฯหู จินเทา เรื่องราวเข้มข้นตื่นเต้นไปคนละทางจากที่ได้ติดตามดูจากสื่อของจีนก่อนหน้านี้ ก็เลยติดตามเข้าไปค้นข่าวเพิ่มเติมจากเว็บไซต์สำนักข่าวอื่นๆของฮ่องกง ทั้งที่เป็นฉบับภาษาจีนและฉบับภาษาอังกฤษ เลยได้เห็นเหตุการณ์อีกด้านหนึ่งของเรื่องราว15ปีแห่งการหวนคืนสู่แผ่นดินแม่ สรุปง่ายๆว่า คนฮ่องกงไม่มีความสุขเท่าไรนัก สัญญาณแห่งความไม่พอใจ ปรากฏเด่นชัดมาตั้งแต่เมื่อ 1 กรกฎาคมปีที่แล้ว ตอนฉลองครบ14ปี มีผู้คนในฮ่องกงกว่าสองแสนคนออกมาแสดงพลังบนถนน แต่หน่วยงานความมั่นคงในเวลานั้นวิเคราะห์ว่าเชื่อมโยงกับกระแส Occupy Wall Street ทั้งที่แท้จริงแล้ว เป็นการแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลที่ปักกิ่งและคณะผู้บริหารฮ่องกง ประเด็นหลักๆที่กลายมาเป็นเชื้อความไม่พอใจอาจแยกออกได้เป็นสามด้านด้วยกันดังนี้
                     ด้านเศรษฐกิจ แม้ว่าอัตราการเจริญเติบโตของฮ่องกงจะไม่ถูกกระทบจากการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ ทว่าทิศทางการลงทุนที่มุ่งเน้นไปสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มทุนที่ร่วมมือกันระหว่างท้องถิ่นและจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ที่อยู่อาศัยของเกาะฮ่องกงมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเป็นปัญหากับคนที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง รัฐบาลท้องถิ่นฮ่องกงมุ่งไปที่การดึงทุนจากแผ่นดินใหญ่และการเสนอผลตอบแทนการลงทุนที่สูงเกินจริง มากกว่าที่จะคุ้มครองดูแลสวัสดิการของคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งแตกต่างมากเมื่อเทียบกับการบริหารในสมัยที่ยังอยู่กับอังกฤษ ยิ่งไปกว่านั้น นับตั้งแต่ปี1997เป็นต้นมา ช่องว่างแตกต่างระหว่างคนจนและคนรวยในฮ่องกง ถ่างกว้างขึ้น ด้วยระบบการเมืองที่ส่งเสริมให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งจีนและฮ่องกงจับมือกันและตักตวงความร่ำรวยในกลุ่มชนชั้นนำจำนวนน้อย
ด้านการเมือง จีนเคยสัญญาว่าชาวจีนฮ่องกงจะยังคงมีเสรีภาพทางการเมือง และสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆเท่าที่จะไม่กระทบกับความมั่นคงของประเทศโดยรวม ทว่าในทางปฏิบัติจริง การตีความเรื่องรัฐบาลท้องถิ่นและสิทธิเสรีภาพ ดูเหมือนจะไปคนละทางระหว่างปักกิ่งและผู้คนบนเกาะฮ่องกง คณะผู้บริหารเขตปกครองพิเศษของฮ่องกง มาจากการเลือกตั้งของผู้นำเพียงส่วนน้อย ภายใต้ความเห็นชอบของปักกิ่ง แม้จะมีการวางแผนว่าภายในปีค.ศ.2017 ชาวฮ่องกงจะได้รับสิทธิ์เลือกผู้บริหารโดยตรงก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนจะผิดไปจากความคาดหวังของชาวฮ่องกงส่วนใหญ่ ยิ่งมาเกิดมีประเด็นฉาวเกี่ยวกับตัว นายเหลียง เจิ้นอิง(นักข่าวไปขุดคุ้ยพบว่ามีทรัพย์สินมากผิดปรกติ ซุกใส่ชื่อคนอื่น มีห้องลับใต้ดินที่บ้าน ซึ่งก่อสร้างไม่เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายของฮ่องกงฯลฯ) ที่ผ่านการเลือกตั้งและได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลปักกิ่งไปแล้ว ก็ยิ่งทำให้เกิดความโกรธแค้นไม่พอใจหนักยิ่งขึ้น ล่าสุดก็ยังมีประเด็นประท้วงเรื่องการหายตัวไปของนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลปักกิ่งซ้ำเติมเข้าอีก กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ ก็เลยยิ่งแรงใหญ่
ท้ายที่สุด แต่หนักพอๆกัน คือปัญหาด้านสังคมที่ชาวฮ่องกงรู้สึกว่ากำลังถูกผู้อพยพจากแผ่นดินใหญ่เข้ามาเบียดเบียน ทั้งเรื่องสวัสดิการพื้นฐาน อาชีพการงาน ที่อยู่อาศัย ความสงบสุข ความปลอดภัยของสังคม คุณภาพสังคม ระเบียบวินัยและและความเป็นชุมชน ล่าสุดที่เป็นประเด็นใหญ่ถึงขั้นเดินขบวนประท้วง คือการรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลจัดระเบียบไม่ให้สาวท้องแก่จากแผ่นดินใหญ่แห่กันเข้ามาทำคลอดในฮ่องกง จนเกิดปัญหาไม่มีเตียงในโรงพยาบาลพอจะรับผู้ป่วยชาวฮ่องกงเป็นต้น
หากถามคนฮ่องกงแท้ๆ 15 ปีที่ผ่านมา จึงเป็น15ปีแห่งปัญหา เราซึ่งเป็นคนนอกคงได้แต่คอยดู ส่วนท่านผู้อ่านที่รักซึ่งนิยมเดินทางท่องเที่ยว มีโอกาส คงต้องไปลองสัมผัสรับรู้เอาเองว่า ตกลงแล้ว ฮ่องกงในทุกวันนี้เป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับ15ปีก่อนหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น