ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ทะเลจีนใต้

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                 ผมจำได้ว่าในคอลัมน์นี้ เคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางทะเลของจีนไปแล้วไม่น้อยกว่า3ครั้ง ล่าสุดก็เมื่อสองสัปดาห์ก่อนผมเพิ่งจะคุยเรื่องพิพาททางทะเลระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ไปสดๆ  มาในสัปดาห์นี้ด้วยเหตุที่มีปรากฏการณ์พิเศษสะกิดใจ ผมก็เลยจะขออนุญาตชวนท่านผู้อ่านที่รักคุยกันในเรื่องนี้อีกหนึ่งรอบ ที่ว่ามีประเด็นสะกิดใจผมนั้น มีอยู่สองปรากฏการณ์ด้วยกันคือ หน้าปกนิตยสารปักกิ่งรีวิวฉบับเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วขึ้นภาพเรือธงจีนกำลังทะยานอยู่ในมหาสมุทร (เป็นภาพคอมพิวเตอร์กราฟิก)พร้อมทั้งจั่วหัวว่า “ยุทธศาสตร์ในทะเลกว้าง” อีกปรากฏการณ์หนึ่งคือโฆษณาสุรายี่ห้อดังของจีนทางทีวีระดับชาติ ที่ระยะหลังหันมารณรงค์โฆษณาโดยใช้สโลแกนว่า “ความฝันของชาติจีน ความฝันสีคราม” ประการหลังนี้หากดูผิวเผินอาจไม่ได้มีอะไรมากนัก เพราะก็เป็นแค่สโลแกนโฆษณาทั่วไป แต่กลับปรากฏว่ามีนักวิจารณ์สื่อจำนวนไม่น้อย เขียนบทวิเคราะห์ทำนองว่า โฆษณาดังกล่าวปรากฏถี่มากในสื่อทีวีหลักที่เป็นของรัฐ ด้วยเจตนาจะสะท้อนวิสัยทัศน์ของชาติให้แพร่หลายไปในความรับรู้ของสาธารณชน ไปไกลถึงขั้นตีความว่า สโลแกนที่ว่านี้เกี่ยวข้องกับความทะเยอทะยานของจีนในการขยายอำนาจทั้งทางทหารและเศรษฐกิจจีนทางทะเล
                     ผมเองก็ใช่ว่าจะเห็นด้วยไปกับจินตนาการของนักวิจารณ์สื่อชาวตะวันตกเหล่านั้นเสียทีเดียว แต่ก็อดไม่ได้ที่จะต้องหันกลับไปดูโฆษณาที่ว่า และก็พบว่ามันถูกนำมาออกอากาศถี่มากจริงๆ เลยเกิดอาการสะกิดหัวใจแปลกๆอยู่ จนมาเจอเข้ากับข่าวเชิงสารคดีชิ้นหนึ่งของจีนโดยบังเอิญเมื่อสองวันก่อน เป็นสารคดีหรือจะเรียกว่าเป็นสกู๊ปข่าวพิเศษก็ได้ เกี่ยวกับการประกาศจัดตั้งเขตปกครองระดับนครแห่งใหม่ของจีนบนหมู่เกาะ Paracel อันเป็นเขตพิพาทนานาชาติอยู่ นครที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้ชื่อว่านคร ซานซา ตั้งอยู่บนเกาะหย่งซิง บนเกาะซีซา มีเขตปกครองรวมเอาหมู่เกาะ ซีซา จงซา และหนานซา ในทะเลจีนใต้ ครอบคลุมพื้นที่กว่า2ล้านตารางกิโลเมตร (ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยของจีนเมื่อวันที่21 มิถุนายน) แม้ในทางประชากรจะยังไม่ได้มีผู้คนอยู่มากมายนัก แต่ก็ถือว่าเป็นการสถาปนาอธิปไตยเชิงสัญลักษณ์ของจีนอย่างชัดเจนเหนือน่านน้ำดังกล่าว ในสารคดีข่าวชิ้นนี้ รัฐบาลจีนได้ยืนยันหลักฐานทางประวัติศาสตร์จำนวนมากย้อนหลังไปถึง ค.ศ.110ว่าดินแดนและน่านน้ำแถบนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ.1959 รัฐบาลจีนได้จัดตั้งเขตปกครองท้องถิ่นในระดับตำบลขึ้นบนเกาะเหล่านี้อย่างเป็นทางการ โดยให้ขึ้นอยู่กับมณฑลกวางตุ้ง มาในปี ค.ศ.1988 เมื่อมีการยกฐานะเกาะไหหนานขึ้นเป็นมณฑล จึงได้ย้ายหมู่เกาะเหล่านี้มาสังกัดกับมณฑลไหหนาน
                    การจัดตั้งเขตปกครองท้องถิ่นในระดับนครที่ซานซา เป็นจุดหักเหสำคัญทางนโยบายของรัฐบาลจีนต่อความขัดแย้งเรื่องเขตแดนในทะเลจีนใต้ และชี้ชัดว่าบัดนี้รัฐบาลจีนมีความพร้อมเต็มที่ในการเดินหน้าต่อสู้ข้อพิพาทเขตแดนแบบไม่ต้องเกรงอกเกรงใจใครอีกแล้ว นอกเหนือจากการประกาศจัดตั้งเขตปกครองขึ้นมาเป็นการเฉพาะ รัฐบาลจีนเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังได้อนุมัติแผนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการลงทุนทางสาธารณูปโภคพื้นฐานอีกหลายรายการ รัฐบาลจีนมองว่าการจัดตั้งเขตการปกครองระดับนครที่มีสาธารณูปโภคพร้อมเพรียง จะช่วยให้รัฐบาลสามารถบริหารจัดการและดูแลผลประโยชน์ทางทะเลในแถบนี้ได้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
                   ในด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจีนมีโครงการที่จะส่งเสริมการลงทุนทั้งจากรัฐวิสาหกิจ เอกชนของจีน และนักลงทุนต่างประเทศในพื้นที่แถบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแสวงหาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอันอุดมสมบูรณ์ แน่นอนว่าแหล่งทรัพยากรทางทะเลที่ว่านี้หลักๆแล้วก็คือน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินั่นเอง จากข้อมูลการสำรวจของทางการจีน เชื่อกันว่าน่าจะมีแหล่งน้ำมันดิบไม่น้อยกว่า180หลุม(ปริมาณไม่น้อยกว่า55,000ล้านตัน) แหล่งก๊าซธรรมชาติอีก200กว่าแหล่ง(ไม่ต่ำกว่า20ล้านล้านคิวบิกเมตร) รัฐวิสาหกิจของจีนเองได้เริ่มต้นทำการขุดสำรวจมาแล้วตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา และก็เริ่มพบแหล่งน้ำมันและก๊าซที่มีความสามารถขุดเจาะมาใช้ในเชิงพานิชแล้วหลายแหล่ง  นอกจากนี้ จีนยังมีโครงการจะพัฒนาอุตสาหกรรมการประมงแบบครบวงจร และการท่องเที่ยวในหมู่เกาะเหล่านี้ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเกาะไหหนานในระยะที่สาม อันประกอบด้วยแผนการประกาศเขตอนุรักษ์ทางทะเลเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่ประกาศไปแล้ว6แหล่งอนุรักษ์ในน่านน้ำรอบเกาะไหหนานตั้งแต่ปี ค.ศ.1988
                       อนาคตข้างหน้าของทะเลจีนใต้จะเป็นอย่างไร คงยากจะประเมินได้ รู้แต่ว่าคลื่นลมน่าจะแรง อุณหภูมิก็คงจะเพิ่มสูงขึ้น ประเทศเช่นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน อินโดนีเซีย จะหวังอาศัยเวทีการเจรจาแบบพหุภาคีอย่างที่กลุ่มอาเซียนคาดหวังจะร่วมกันกดดันจีน คงทำได้ยาก เห็นได้จากเวทีที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กัมพูชาครั้งที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาจะด้วยความเกรงใจรัฐบาลจีนอย่างสุดซึ้งหรือจะด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม ปฏิเสธเสียงแข็งไม่ยอมให้มีแถลงการณ์ร่วมกรณีพิพาทระหว่างจีน-ฟิลิปปินส์ เห็นอย่างนี้แล้ว เดาได้เลยว่า อนาคตคงต้องตัวใครตัวมันแน่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น