ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ผลประโยชน์จีนในเมียนมาร์

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์     
ช่วงติดต่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดอาการชีพจรลงเท้า ต้องเดินทางไปต่างประเทศหลายเที่ยว ทั้งใกล้ๆแถวเอเชีย และไกลไปถึงประเทศในยุโรป เรียกว่าถ้าจะนับเวลาเป็นชั่วโมงต่อชั่วโมงกันแล้ว ใช้เวลาไปกับการเดินทางมากกว่าการไปทำธุระเสียอีก ที่ว่าใช้เวลาในการเดินทางมาก จริงๆแล้วก็อาจไม่ถูกต้องนัก เพราะเสียเวลากับการนั่งรอเครื่องบินล่าช้า หรือนั่งรอต่อเครื่องบินภายในประเทศต่างๆตามสนามบิน นับไปนับมาก็หมดไปเป็นสิบๆชั่วโมงเหมือนกัน อย่างหนึ่งที่ผมชอบทำเพื่อเป็นการฆ่าเวลาระหว่างนั่งรอก็คือการเดินเล่นตามร้านขายหนังสือในสนามบิน ที่ค้นพบใหม่ก็คือ ระยะหลังมานี้ มีหนังสือเกี่ยวกับประเทศเมียนม่าร์หรือพม่าที่เรารู้จักกัน (ต่อไปนี้ขอเรียกพม่านะครับ) เพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ ยิ่งตามร้านหนังสือในสนามบินของประเทศแถบเอเชีย ยิ่งมีให้เห็นเพิ่มมากผิดตากว่าแต่ก่อน แสดงว่านับแต่รัฐบาลพม่าใช้นโยบายผ่อนปรนเปิดทางให้คุณอองซาน ซูจี ออกมาสมัครสส.และทำกิจกรรมทางการเมืองได้เสรีมากขึ้น ประเทศพม่าก็เริ่มเนื้อหอม และได้รับความเชื่อมั่นสนใจจากประชาคมโลกมากยิ่งขึ้น
                  ในประเทศไทยเราเอง ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่รักก็คงจะได้สังเกตเห็น ระยะหลังมานี้ ทั้งในแวดวงนักธุรกิจ และวงการนักวิชาการ กระแสจับตาและติดตามดูพัฒนาการในประเทศพม่า มีมากกว่าแต่ก่อนหลายเท่าตัว ก่อนหน้านี้ประมาณ 5 ปี ถ้าใครเอ่ยปากว่าจะไปลงทุนในพม่า คงถูกมองว่าสติไม่ดีจะเอาเงินและชีวิตไปทิ้งเสียเปล่า แต่มาวันนี้ประเด็นการลงทุนและการขยายธุรกิจเข้าไปในพม่า เข้าใจว่าน่าจะอยู่ในความคิดของนักธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางของไทยจำนวนไม่น้อย คล้ายๆกับกระแสตื่นการลงทุนในจีนเมื่อ20กว่าปีที่แล้วอย่างไรอย่างนั้น เฉพาะอย่างยิ่งหลังจากข่าวที่ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของเรารายหนึ่ง ไปได้สัมปทานพัฒนาเขตอุตสาหกรรมใหญ่โตแห่งใหม่ในพม่าแถวเมืองทวาย ตามมาด้วยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดกาญจนบุรี ประกอบเข้ากับเสียงร่ำลือการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเด็นเรื่องลงทุนในพม่าก็เหมือนไฟได้เชื้อชั้นดี ลุกลามขยายตัวหนักยิ่งขึ้นไปอีก เห็นว่าวันที่ 22-24นี้ ท่านเต็งเส่งก็จะมาเยือนไทย เพื่อหารือเรื่องการร่วมมือลงทุนในโครงการท่าเรือที่ทวาย
                   ที่ผมนำเอาเรื่องพม่ามาชวนคุยเกริ่นเรื่องหมดไปเสียตั้งสองย่อหน้ากระดาษ ไม่ใช่คิดอ่านจะเปลี่ยนหัวคอลัมน์หรือหันมาเอาดีเรื่องพม่าหรอกครับ แต่เผอิญไปพบรายงานข่าวในสื่อจีนที่ตีพิมพ์ในวารสารการเงินการลงทุนฉบับหนึ่งที่เซี่ยงไฮ้ เกี่ยวกับการลงทุนของจีนในประเทศต่างๆแถวอาเซียน เลยทำให้เกิดข้อสังเกตสะดุดใจขึ้นมาว่า ที่เราตื่นพม่า ตื่นเออีซีกันอยู่นี้ ดูจะเป็นอาการเด็กไร้เดียงสายังไงๆอยู่หรือเปล่า เพราะหากเปิดข้อมูลบัญชีการลงทุนของจีนที่รุกเข้ามายึดหัวหาดในประเทศต่างๆแถบนี้แล้ว ดูท่าจะไม่เหลือพื้นที่ว่างเท่าไรให้เราเข้าไปลงทุนหรือค้าขายด้วย ดีไม่ดีเอาเข้าจริงการรวมตัวของประชาคมอาเซียนที่ว่ามีสามเสา คือ เสาการเมืองความมั่นคง เสาเศรษฐกิจ และเสาสังคมวัฒนธรรม ตอนนี้เหลือให้เรามีส่วนร่วมแค่สองเสาแล้ว ส่วนเสาที่สำคัญคือเสาเศรษฐกิจ เข้าใจว่าจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี และสิงคโปร์ พากันเข้าไปมีส่วนร่วมมากน้อยตามลำดับเรียบร้อยหมดแล้ว หากจะมีเหลือ ก็คงเป็นช่องเล็กช่องน้อยแบบ SME
              กรณีพม่าก็เช่นกัน หากค้นคว้าข้อมูลกันสักหน่อย ท่านผู้อ่านที่ลุ้นจะรอร่วมโดยสารโครงการเขตอุตสาหกรรมทวายอาจต้องตกใจ เพราะข่าวในวงการนักลงทุนนานาชาติ ยืนยันตรงกันว่า มีอาการวูบและเริ่มเอียงๆอย่างไรชอบกลอยู่ ประเดิมด้วยข่าวที่รัฐบาลพม่าแจ้งยกเลิกไม่อนุมัติโครงการโรงผลิตไฟฟ้าพลังถ่านหินขนาด4,000เมกะวัตต์ที่จะส่งไฟฟ้าเลี้ยงเขตอุตสาหกรรมเกิดใหม่นี้ ด้วยข้ออ้างเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามมาด้วยข่าวการถอนตัวของกลุ่ม Max Myanmar Group ที่ร่วมทุนกันมาตั้งแต่แรก ล่าสุดก็ลือกันในพม่า ว่าอภิมหาโปรเจ็คมูลค่าร่วม5หมื่อนล้านเหรียญสหรัฐในทวายชะลอกิจกรรมก่อสร้างระยะที่หนึ่งไปแล้วเพราะรอหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ๆเข้ามาช่วยอัดฉีดเงิน จริงเท็จอย่างไรคงต้องรอดู แต่ที่แน่ๆรัฐบาลพม่าออกมาให้ข่าวว่า โครงการดังกล่าวอาจต้องรอความชัดเจนของผู้ได้สัมปทานว่าจะหาเงินลงทุนในระยะแรก(8,500ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับตัดถนน ระบบสื่อสารและก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน)ได้ครบเต็มจำนวนตามที่ตกลงไว้กับรัฐบาลพม่าหรือไม่ ในระหว่างนี้รัฐบาลพม่าจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึก ที่หมู่เกาะเกี๊ยกพยู ซึ่งมีความก้าวหน้าในการลงทุนและการก่อสร้างมากกว่า อันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะโครงการพัฒนาหมู่เกาะเกี๊ยกพยูที่ว่านี้ เจ้าของโปรเจ็คไม่ใช่ใครที่ไหน หัวเบี้ยสำคัญคือกลุ่มบรรษัทลงทุนข้ามชาติของจีน CITIC Group China โครงการดังกล่าวเกิดจากข้อตกลง ระหว่างรัฐบาลจีนและพม่าที่ลงนามในบันทึกความร่วมมือกันเมื่อปลายปี2009เริ่งลงมือทำงานในพื้นที่จริงๆเมื่อกลางปีที่แล้ว ชั้นต้นงานก่อสร้างเกือบทั้งหมดดำเนินการโดย บริษัทรับเหมาก่อสร้างในเครือของ CITIC เอง  โครงการนี้เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลจีนตกลงให้เงินกู้กว่า2,800ล้านเหรียญสหรัฐในปี2008เพื่อก่อสร้างท่อส่งน้ำมันและท่อส่งก๊าซธรรมชาติระยะทางกว่าหนึ่งพันกิโลเมตรจากท่าเรือเกี๊ยกพยูเดิมไปยังชายแดนจีน-พม่า จะว่าเป็นเฟสสองก็ได้ นอกเหนือจากนี้ จีนยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอื่นๆอีกมากมาย ที่ทั้งรัฐวิสาหกิจจีนและเอกชนของจีนได้เข้าไปลงทุนไว้ก่อนหน้าตอนที่พม่าถูกตะวันตกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ นับเป็นเวลาร่วม30ปีมาแล้ว
                       ชุมชนจีนในพม่าเองก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนในพม่าขยายตัวอย่างรวดเร็ว หลังจากปิดประเทศมานาน โลกภายนอกเพิ่งจะได้เห็นโอกาสและลู่ทางต่างๆในการกลับเข้าไปลงทุนในพม่า ทว่าสำหรับประเทศจีนและประเทศอินเดีย เราอาจกล่าวได้ว่าทั้งสองประเทศมีผู้แทนการค้าถาวรอยู่ในพม่ามาตั้งแต่แรก เพราะทั้งจีนและอินเดีย มีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้มแข็ง ควบคุมระบบเศรษฐกิจพื้นฐาน ค้าขายกับจีนและอินเดียอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลทหารของพม่ามาโดยตลอด
                  ...รู้อย่างนี้แล้ว ใครที่คิดจะค้าขายลงทุนในพม่า ดีไม่ดีต้องรีบส่งลูกหลานไปเรียนภาษาจีน หรือภาษาฮินดี้โดยด่วน ไม่ใช่ภาษาพม่ากระมัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น