ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อีกหนึ่งก้าว จีน-ไต้หวัน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีท่านผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ อย่างน้อยสองท่านแซวพาดพิงคอลัมน์คลื่นบูรพาที่ผมรับผิดชอบเขียนอยู่นี้ ท่านหนึ่งถามว่า สัปดาห์นี้ผมจะนำเสนอเรื่องน้ำท่วมมหานครปักกิ่งหรือไม่ เพราะเห็นข่าวว่าท่วมหนักฉับพลันจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก อีกท่านหนึ่งก็คุยเรื่องฝนฟ้าอากาศ แล้วก็แวะเข้าข่าวที่ว่าจีนกำลังเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนสามโตรกผา ตอนนี้พื้นที่ใต้เขื่อนเลยรับน้ำท่วมไปเต็มๆ ตกลงไม่รู้จะต้องมาฝึกงานบ้านเรา หรือควรให้มาแนะนำเราเรื่องบริหารน้ำกันแน่ ผมเองก็ตอบเลี่ยงไปว่าคลื่นบูรพาเป็นคอลัมน์ข่าวแห้งไม่ใช่ข่าวสด คงนำเสนอไม่ได้ทันเหตุการณ์ ในใจก็ทราบดีว่าทั้งสองข่าวเป็นประเด็นใหญ่ที่มีผู้สนใจกันมาก โดยเฉพาะคนไทยเราที่เพิ่งผ่านเหตุน้ำท่วมมายังไม่ทันสะเด็ดน้ำดี แต่อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากจะเขียนถึงเรื่องนี้เท่าใดนัก เพราะรู้สึกว่าเขียนเรื่องความเสียหายของประเทศเพื่อนบ้านไปก็ไม่สร้างสรรค์ได้ประโยชน์นัก เว้นแต่จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเทศไทยเรา
โชคดีที่ว่าพอปลายสัปดาห์ก็มีข่าวใหญ่มาเป็นตัวช่วย กล่าวคือ เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา มีกิจกรรมสำคัญเกิดขึ้นหนึ่งเวที คืองานประชุมร่วมทางเศรษฐกิจ การค้าและวัฒนธรรมข้ามช่องแคบครั้งที่8 ระหว่างองค์กรหน่วยงานต่างๆของจีนแผ่นดินใหญ่และของฝั่งไต้หวัน พอบอกว่าเป็นครั้งที่8 ท่านผู้อ่านที่รักจำนวนหนึ่งก็อาจรู้สึกว่าเป็นอีกหนึ่งเวทีที่จัดกันเป็นประจำทุกปี ไม่น่าจะมีอะไรตื่นเต้น ผมในฐานะผู้นำประเด็นมาขยายต่อ ก็จะขออนุญาตขยายความเพิ่มเติม แม้จะเป็นเวทีที่จัดมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็มีความสำคัญและได้เรื่องได้ราวเพิ่มขึ้นทุกปี เรียกว่ามีพัฒนาการที่ทั้งชาวจีนและชาวไต้หวันตั้งความหวังไว้มาก เริ่มต้นใหม่ๆก็เป็นการประชุมระหว่างภาคเอกชนและผู้คนทั้งสองฝั่งช่องแคบที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว โดยที่รัฐบาลของสองฝ่ายสังเกตการณ์อยู่แบบเขินๆเพราะยังไม่รู้จะวางตัวอย่างไร จนต่อๆมามีเจ้าหน้าที่ระดับสูงและผู้แทนของพรรคการเมืองไต้หวัน เริ่มทะยอยมาเข้าร่วมกับภาคเอกชน สังเกตการณ์ในที่ประชุม ฝ่ายรัฐบาลจีนก็เริ่มตอบรับด้วยการอนุญาตให้ผู้ใหญ่ในพรรคฯเข้าร่วมประชุมด้วย มาใน2-3คราวประชุมหลังสุดนี้ ก็ไม่ต้องอายต้องเขินกันแล้ว เวทีที่ประชุมร่วมทางเศรษฐกิจ การค้าและวัฒนธรรมข้ามช่องแคบ ได้กลายมาเป็นเวทีประชุมอย่างเป็นทางการ มีผู้เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ทั้งหน่วยงานระดับสูงภาครัฐ ภาคธุรกิจ และองค์กรภาคประชาชนครบถ้วน กลายเป็นนิมิตหมายและความหวังสำคัญของผู้คนทั้งสองฝั่ง ว่าการอยู่ร่วมและพัฒนาอย่างสันติจะเกิดขึ้นได้แน่ๆ
ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น ในการประชุมเมื่อวันอาทิตย์ รัฐบาลและองค์กรผู้นำของทั้งสองฝ่าย ได้เห็นชอบร่วมกันใน17แผนงานส่งเสริมความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ตามคำแถลงของนาย หวาง อี้ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการไต้หวันของพรรคคอมมิงนิสต์จีน ผมจะขอนำเอาเรื่องเด่นๆมาสรุปให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพโดยสังเขปดังนี้ครับ
ประการแรก ต่อแต่นี้ไปหน่วยงานภาครัฐของทั้งสองฝ่าย จะดำเนินการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและวัฒนธรรมเพื่อผลประโยชน์โดยร่วมของประชาชาติจีน โดยไม่สนใจประเด็นทางการเมืองเรื่องจีนเดียวหรือไม่จีนเดียว หรือเรื่องอนาคตสถานะของไต้หวันในเวทีระหว่างประเทศ
ประการที่สอง รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวของทั้งสองฝ่าย ต้องกลับไปทบทวนเร่งรัดกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามช่องแคบ(ECFA) ที่มีผลบังคับใช้มาแล้วตั้งแต่เมื่อสองปีก่อน (ผมเคยนำเสนอรายละเอียดไปแล้วในคอลัมน์นี้ ลักษณะคล้ายๆFTAชนิดหนึ่ง) แม้ในระดับนโยบาย ทั้งสองฝ่ายจะอ้างว่าได้นำไปปรับแก้กฎระเบียบต่างๆเสร็จสิ้นแล้ว แต่ในทางปฏิบัติกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจหลายเรื่องยังไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ โดยเฉพาะการเปิดเสรีภาคบริการระหว่างกัน
ประการที่สาม ที่ประชุมเห็นพ้องให้หน่วยงานภาครัฐทั้งสองฝ่าย ไปจัดทำข้อตกลงอย่างเป็นทางการในการทำธุรกรรมทางการเงินต่างสกุลข้ามช่องแคบ เพื่อเป็นการปกป้องและส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว
ประการที่สี่ ที่ประชุมตกลงให้เพิ่มปริมาณการแลกเปลี่ยนเยาวชนของทั้งสองฝ่ายอีกเท่าตัว โดยให้กระจายครอบคลุมทั้งการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา การท่องเที่ยว ทางวัฒนธรรม และการเรียนรู้วิถีชีวิตภาคเกษตร
ประการที่ห้า ที่ประชุมตกลงเพิ่มความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างประชาชนต่อประชาชนในทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้าและวัฒนธรรม โดยขอให้หน่วยงานราชการระดับปฏิบัติ ของทั้งสองฝ่ายกลับไปแก้ไขกฏระเบียบที่ยังขัดขวางการติดต่อโดยตรงระหว่างประชาชนต่อประชาชนให้หมดสิ้นไปภายในระยะเวลา1ปี
นาย เจี่ย ชิงหลิน หนึ่งในกรรมการกลางของพรรคฯในฐานะเป็นหัวหน้าคณะผู้ร่วมประชุมฝ่ายจีน และนาย โป๋ว เซี๊ยง ประธานกิติมศักดิ์พรรคก๊กมินตั๋ง ต่างก็ให้ความมั่นอกมั่นใจ ว่าข้อเสนอทั้งหลายจากที่ประชุม จะได้รับการผลักดันเข้าสู้กระบวนการของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถปฏิบัติให้ได้จริงในเวลาอันใกล้
        แม้ผมจะเรียนท่านผู้อ่านที่รักไปเมื่อตอนต้นว่าผลสรุปเวทีร่วมในคราวนี้ได้มรรคได้ผลอย่างยิ่ง แต่ท้ายที่สุด ในทางการบังคับปรับแก้กฏระเบียบ ก็อยู่ที่ว่ารัฐบาลของทั้งสองฝ่าย ใครจะไปเร่งรัดดำเนินการได้ไวกว่ากันก็จะเป็นฝ่ายได้เปรียบ ตัวเลขการลงทุนข้ามช่องแคบในปัจจุบัน เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด แม้ว่าเวลานี้ธุรกิจของเอกชนในแผ่นดินใหญ่จะขยายออกไปมาก มีการไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับปรากฏว่าทุนแผ่นดินใหญ่ไหลออกไปยุโรปตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้สะดวกกว่าการไปลงทุนในไต้หวัน ใครได้ ใครเสียเห็นๆกันชัดอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น