ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อุตสาหกรรมกีฬาจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                    สัปดาห์นี้ถ้าจะไม่พูดถึงกีฬาเลย คลื่นบูรพาคงต้องกลายเป็นคอลัมน์ที่เชยที่สุดเป็นแน่ ควันหลงจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ยังไม่จางหายไปจากหน้าสื่อทั้งหลาย ระหว่างที่นั่งเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ในทีวีก็เห็นถ่ายทอดขบวนแห่นักกีฬาไทยที่เพิ่งจะเดินทางกลับถึงบ้าน ดูโกลาหลคึกคักยิ่งนัก แม้พิธีปิดจะล่วงเลยมาหลายวันแล้ว โดยเฉพาะสำหรับชาวไทยเรา ผมเชื่อว่าร้อยละ99.99ยังคงคาใจผลการตัดสินคู่ชิงเหรียญทองแข่งขันมวย ระหว่างนักชกชาวไทยและนักมวยจากประเทศจีน เท่าที่ผมสดับรับฟังมา พวกเราชาวไทยส่วนใหญ่เชื่อว่ามีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสินที่ค้านกับสายตาผู้ชมทั่วโลก ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ผมเชื่อว่ามีสื่อมวลชนสายข่าวกีฬาทุกสำนัก ทยอยตีแผ่นำเสนอมาโดยลำดับแล้ว หลายแง่มุมที่นำเสนอ ก็ชี้ให้เห็นว่าเรื่องกีฬาระดับโลกในสมัยนี้ ไม่ใช่จะแข่งขันกันแต่ลำพังฝีไม้ฝีมือกัน ยังจะต้องมีแรงหนุนอื่นๆเข้ามาเสริม ถึงจะสามารถกลายมาเป็นมหาอำนาจเหรียญทองกันได้ จีนก็เป็นประเทศหนึ่งที่ถูกนานาชาติจับตามองมากเป็นพิเศษ หลังจากที่กวาดเหรียญนำเป็นที่หนึ่ง เมื่อคราวที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพครั้งก่อน มาคราวนี้ก็ตกเป็นรองสหรัฐอเมริกา ทำให้เห็นว่าต่างฝ่ายต่างก็ทุ่มทุนกันเต็มที่ มองในภาพรวม จริงไม่ใช่เรื่องน่าน้อยใจเท่าไรนักสำหรับประเทศเล็กๆเช่นประเทศไทยเรา หนทางข้างหน้าในการที่จะต้องส่งเสริมให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ยังต้องคิดอ่านทำกันอีกเยอะ ไม่ใช่เพียงมาร่วมโดยสารเกาะกระแสสมทบเงินอัดฉีดเอานาทีสุดท้าย ไม่กี่วันก่อนที่นักกีฬาจะลงแข่งขัน ซึ่งก็เป็นเรื่องดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ถ้าจะให้ดีจริงๆ ก็ควรที่จะร่วมกับสนับสนุนกันเสียตั้งแต่เริ่มต้น
                     กรณีของสหรัฐอเมริกา จีน หรือรัสเซีย(โดยเฉพาะสหภาพโซเวียตเดิม) เรื่องการกีฬา ถือกันว่าเป็นเรื่องใหญ่มาเป็นเวลานานมากแล้ว แต่ละประเทศต่างก็มีแผนงานและโครงการพัฒนานักกีฬาเยอะแยะไปหมด สัปดาห์นี้เพื่อเป็นการโหนกระแสโอลิมปิก ผมก็เลยจะขอนำเสนอพัฒนาการการกีฬาของจีน ว่าเขาไปถึงไหนกันแล้ว หากเทียบกับในบ้านเรา ผมเข้าใจว่าเขาก้าวหน้าไปกว่าอย่างน้อยก็หลายสิบปี ที่พูดมานี้ไม่ใช่ว่าจะไปยกย่องจีนให้เกินจริง แต่ต้องยอมรับว่าในเรื่องการกีฬา จีนมีฐานทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งมาแต่ประวัติศาสตร์ ตามมาด้วยการส่งเสริมเพื่อสร้างความเป็นเลิศทางการกีฬาเลียนแบบโลกสังคมนิยมที่มีสหภาพโซเวียตเดิมเป็นแม่แบบอยู่หลายสิบปี ครั้นเมื่อจีนเปิดกว้างสู่โลกภายนอก ก็ได้รับเอาอิทธิพลการพัฒนาวิทยาศาสตร์การกีฬาสมัยใหม่เข้ามาเสริม ช่วงระยะเวลากว่า20ปีที่ผมมีโอกาสแวะเวียนไปประเทศจีน ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในด้านนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกือบจะพูดได้ว่าในทุกหัวเมืองของจีนที่ไปเห็นมา อาคารสถานที่หลักสำคัญของเมือง นอกเหนือไปจากศาลาว่าการ จตุรัสลานเมือง ศาลาประชาชน โรงละคอนประจำเมืองและพิพิธภัณฑ์แล้ว ก็มักต้องเจอสนามกีฬากลางแจ้งขนาดใหญ่ประจำเมืองควบคู่ไปกับอาคารกีฬาในร่มอยู่เสมอๆ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ สนามกีฬาของเขาทั้งกลางแจ้งและในร่ม มีกิจกรรมแข่งขันและมีผู้มีคนเข้าใช้คึกคักต่อเนื่อง ไม่เหมือนสนามกีฬาบางแห่งของบ้านเรา ที่สร้างไว้แล้วไม่ได้ใช้จริง ปล่อยให้วัวเดินเล่นเล็มหญ้าอยู่เป็นฝูงๆ  ฉะนั้นสถานะของการกีฬาจีนในปัจจุบันจึงต้องยอมรับว่ามีความพร้อมเต็มที่ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และบุคลากรการกีฬา
                       ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น จีนในปัจจุบันได้ผลักดันการกีฬาไปอีกระดับหนึ่ง จะว่าเลียนแบบหรือแข่งกับตะวันตกก็ได้ กล่าวคือจีนกำลังเดินหน้าพัฒนาการกีฬาในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง สามารถแสวงหาผู้ร่วมทุนและทำให้กิจกรรมการแข่งขันต่างๆ ให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจคุ้มค่าการลงทุน ทั้งที่เป็นกิจกรรมโดยตรงเช่นการจัดการแข่งขันต่างๆ และกิจกรรมทางอ้อม เช่นอุตสาหกรรมผลิตสินค้าและของที่ระลึก  ว่าไปแล้วพัฒนาการในแนวทางนี้เริ่มต้นมาได้ไม่เกินสิบปีเป็นอย่างมาก  จากข้อมูลที่ผมไปลองหามา รัฐบาลจีนซึ่งก่อนหน้านี้ต้องรับผิดชอบลงทุนส่งเสริมกิจการกีฬาในทุกรูปแบบแต่เพียงลำพัง ได้ออกนโยบายใหม่เมื่อปี ค.ศ.2002 กระจายการส่งเสริมการกีฬาให้ท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆร่วมรับผิดชอบ มาเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.2010 ภายหลังความสำเร็จจากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกที่ปักกิ่ง คณะกรรมการกลางพรรค ถึงกับกำหนดให้การพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬาเป็นนโยบายเร่งด่วน โดยระบุชัดเจนว่าให้หน่วยงานต่างๆถือเอาการพัฒนาอุตสาหกรรมกีฬาเป็นความสำคัญระดับต้นๆ เพราะเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่มีอนาคตในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสูง และให้ชักชวนการลงทุนจากภาคเอกชน รวมทั้งให้มีส่วนร่วมจากภาคประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
                 แน่นอนว่าเมื่อเทียบกับประเทศเช่นสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งมีความสำเร็จอย่างสูงในการบริหารจัดการ การแข่งขันกีฬาเทนนิสและกอล์ฟเชิงพานิช หรือเทียบกับการจัดการเชิงพานิชของการแข่งขันฟุตบอลในอังกฤษและยุโรป จีนยังคงต้องทำงานอีกเยอะกว่าจะไปถึงจุดที่จะแข่งขันส่งออกได้ แต่ผมเองเข้าใจว่าจีนก็ไม่ได้มุ่งหวังถึงขั้นจะส่งออกเพื่อแข่งขัน ทว่าลำพังเพียงการกระตุ้นพลังผู้บริโภคจำนวนมหาศาลในประเทศจีน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการ “ซื้อ” สินค้ากีฬารูปแบบใหม่นี้ จีนก็คงสามารถทำเงินได้อีกมหาศาล นี่เองกระมังที่เป็นนิยามความหมายของอุตสาหกรรมกีฬา แบบที่จีนมองเห็น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า หลายสิบปีมานี้ กองทัพหรือบุคลากรและเทคโนโลยีทางการกีฬาของจีน ได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างดี เมื่อถึงคราวจะต้องนำออกมาถอนทุนสร้างเงินสร้างทอง ก็เลยมีความพร้อม เวลานี้ไม่ว่าจะไปที่ไหนในจีน อย่างหนึ่งที่เราอาจสังเกตเห็นก็คืออุปกรณ์การกีฬาและเครื่องแต่งกายสำหรับการเล่นกีฬาประเทต่าง ยึดครองขยายพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าของจีนเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างชัดเจน หนุ่มสาวจีนสมัยใหม่ก็หันมาเล่นกีฬาประเภทต่างๆหลากหลายมากกว่าเดิม สมัยเมื่อจีนเปิดกว้างทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เรามักเห็นภาพคนสูงอายุรำมวยจีนตอนเช้า คนหนุ่มสาวและกลางคนนิยมลีลาศ เด็กๆในวัยเรียนถูกกำหนดให้เล่นเปียโนหรือไม่ก็ไวโอลิน แต่ตอนนี้ ตามท้องถนนในเมืองใหญ่ทั่วประเทศจีน เราจะเห็นผู้คนพกพาอุปกรณ์เล่นกีฬาที่หลากหลาย คุณภาพดีและมากรูปแบบมากยิ่งขึ้น ผมเองประเมินไม่ออกหรอกครับว่าทั้งหมดนี้ไปเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับ GDP ของจีนอีกเท่าไร แต่รู้แน่ๆและเห็นด้วยว่า เวลานี้การกีฬาในจีนกำลังเป็นเงินเป็นทองเพิ่มมากขึ้น
                          เมื่อหันกลับมามองดูประเทศไทยเรา ท่านผู้อ่านที่รักอาจมีความรู้สึกแบบเดียวกับผม ว่าการกีฬาไทยในด้านหนึ่ง ก็ดูกำลังเติบโตเป็นเงินเป็นทองขึ้นมาเหมือนกัน เห็นได้ชัดเจนจากการเกิดขึ้นของไทยพรีเมียร์ลีก ในแต่ละนัดการแข่งขัน จำนวนผู้ชมและแฟนคลับดูคึกคักเพิ่มมากขึ้น เริ่มเห็นมีสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันฟุตบอลวางขายหนาตา การถ่ายทอดทางทีวีก็มีผู้ลงโฆษณาสนับสนุนไม่น้อย ทว่าในอีกมุมหนึ่ง ส่วนที่จะส่งเสริมความเป็นเลิศและฝีไม้ลายมือของนักกีฬาแท้ๆ ดูเหมือนเรายังมีปัญหากันอยู่ ทำให้เกิดเป็นปัญหาว่า เราจะผลักดันกีฬาไปในเชิงพานิชได้สำเร็จจริงจังหรือไม่ หากทรัพยากรนักกีฬาของเรายังไม่ได้รับการดูแลเพียงพอ ก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นไก่เป็นไข่ อะไรควรต้องลงมือพัฒนากันก่อนหลังอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น