ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เปิดเทอมมหาวิทยาลัยจีน

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

             
              ประมาณต้นเดือนกันยายน มหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศจีนก็จะเริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ ผมจำได้ว่าในช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปีก่อน คอลัมน์คลื่นบูรพาก็เคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในประเทศจีนไปแล้วครั้งหนึ่ง เปิดคอลัมน์ก็ขึ้นต้นทำนองเดียวกันนี้ เหตุสำคัญที่ทำให้ผมต้องนำเสนอเรื่องราวของมหาวิทยาลัยจีนในช่วงนี้ของปี ตอบอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ช่วงนี้เป็นช่วงที่นักเรียนไทยที่ศึกษาอยู่ในประเทศจีนจำนวนหนึ่ง กลับมาพักผ่อนเยี่ยมบ้านช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน เกือบจะเป็นกิจวัตรประจำของผมไปแล้ว ที่จะได้มีโอกาสพบปะพูดคุยหรือได้สัมภาษณ์สดบรรดานักเรียนไทยที่กลับมาเยี่ยมบ้านเหล่านี้ ทำให้ได้รับทราบเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในประเทศจีน เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากที่สามารถรับทราบได้จากสื่อปรกติทั่วไปของจีน เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่จะได้รับทราบข่าวสารแบบเอ็กซ์คลูซีฟจากแหล่งข่าวโดยตรง
                    เรื่องราวแรกๆที่นักเรียนไทยทั่วไปมักบ่นแบบเดียวกันก็คือ นักศึกษาของจีน(โดยเฉพาะที่เป็นผู้ชาย)เรียนหนังสือกันอย่างเอาจริงเอาจังมาก เว้นแต่ในสังคมหมู่นักศึกษาต่างชาติแล้ว บรรยากาศในมหาวิทยาลัยจีนจึงไม่ใช่ที่ๆจะสังสรรค์คบหาเพื่อนฝูงหรือจับกลุ่มคุยเล่นสักเท่าไรนัก กลับเป็นสถานที่แย่งกันเรียน แข่งกันทำคะแนน แม้แต่ที่นั่งในห้องสมุด ก็ต้องเข้าแถวแย่งกัน นักศึกษาจากประเทศไทยเรา ซึ่งเคยใช้ชีวิตแบบสบายๆ ตอนเรียนอยู่เมืองไทย จึงต้องปรับตัวปรับใจเป็นอย่างมาก กว่าจะรู้จักฝึกฝนบังคับให้ตัวเองตื่นแต่เช้ามืดเพื่อไปเข้าแถวหน้าห้องสมุดเพื่อแย่งกันยืมหนังสือ หรือแย่งใช้บริการสัญญาณอินเตอร์เน็ตเพื่อทำงาน บางรายก็ใช้เวลาปรับตัวปาเข้าไปครึ่งเทอมแล้ว ยิ่งในระดับปริญญาโท-เอก ระดับของการแข่งขันทั้งในและนอกห้องเรียน ก็ดูเหมือนจะยิ่งรุนแรง ชัดเจนจนออกนอกหน้า เรียกว่าเป็นสนามแข่งขันที่ไม่มีการปราณีกันเท่าไร
          เรื่องถัดมาที่จับใจความได้จากการพูดคุยกับนักศึกษาไทย คือบรรยากาศการจัดลำดับมหาวิทยาลัยในจีน นอกจากเด็กนักศึกษาจะแข่งกันแล้ว มหาวิทยาลัยทั้งหลายก็แข่งขันกันเอาเป็นเอาตายในการจัดอันดับแต่ละปี การแข่งขันกันในเรื่องจัดอันดับมหาวิทยาลัยนี้ คนจีนเขาดูกันสองช่วงสำคัญ ช่วงแรกคือการจัดอันดับอย่างเป็นทางการที่จะประกาศผลกันทุกๆต้นปีปฏิทิน เช่นรวบรวมผลงานทั้งหมดของแต่ละมหาวิทยาลัยในปี2011 แล้วมาประกาศผลการจัดอันดับในต้นปี2012 (ปีนี้มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยปักกิ่ง ชิงหัว เจียวทงเซี่ยงไฮ้ ฟู่ต้าน หนานจิง วู่ฮั่น ซุ่น-จง-ซาน เสฉวน ฮาร์บินเทคโนโลยีฯลฯ)อีกช่วงหนึ่งก็คือหลังประกาศผลการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่เรียกกันว่าเกาเข่า ซึ่งก็จะตกอยู่ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ก่อนที่ผู้เข้าสอบจะนำผลคะแนนนี้ไปสมัครเข้ามหาวิทยาลัยที่ตนปรารถนา นักเรียนที่ทำคะแนนสูงสุดของประเทศในปีนี้ ถูกรัฐบาลท้องถิ่นจับขึ้นรถแห่โชว์ตัวไปทั่วเมือง แบบเดียวกับการแห่จอหงวนในสมัยโบราณยังไงยังงั้น พอผลการสมัครเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยสรุปเสร็จ(ในช่วงเวลาไม่กี่วันนี้แหละ) ก็จะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะมาตรวจสอบกันดูว่าแต่ละมหาวิทยาลัยดังๆทั้งหลาย ใครได้นักเรียนคะแนนสูงในระดับต้นๆไปเท่าไร ก็จะเป็นข้อมูลจัดอันดับมหาวิทยาลัยอย่างไม่เป็นทางการไปในตัว ปีนี้มีข้อมูลว่านักเรียนคะแนนสอบสูงจำนวนมาก แห่กันไปสมัครเข้ามหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง อันถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่สร้างความฮือฮาในวงการศึกษา แม้ยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจน แต่เล่าลือกันว่าในสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกงอาจจะได้นักศึกษาใหม่ที่มีคะแนนสอบเข้าสูงกว่านักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยปักกิ่งในหลายสาขา
                      เรื่องสุดท้ายเท่าที่พื้นที่คอลัมน์นี้จะมีเหลือ เป็นข่าวเกี่ยวกับนโยบายการจัดการอุดมศึกษาใหม่ของจีนที่เริ่มนำมาใช้ในปีนี้ นโยบายที่ว่าคือการกำหนดให้โควตาที่นั่งในมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศจีน สำหรับรับนักศึกษาจากเขตพื้นที่ยากจนเข้าศึกษา ทั้งนี้โดยไม่ต้องนำคะแนนจากการสอบมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินทั้งหมด ในปีนี้มีนักเรียนแข่งขันสมัครเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยประมาณ9.15ล้านคนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยที่มีที่นั่งในมหาวิทยาลัยทั้งประเทศจีนรวมประมาณ6.8ล้านที่นั่ง ในจำนวนนี้ จะมีที่นั่งพิเศษกันไว้สำหรับนักเรียนที่มาจากเขตยากจนทั่วประเทศที่มีผลคะแนนสอบพอจะเรียนได้ ประมาณ12,500ที่นั่ง จะว่าไปแล้วก็ไม่ถือว่ามาก แต่สำหรับนักเรียนทั่วไปที่ต้องสอบแข่งขันเองโดยไม่มีตัวช่วย นโยบายนี้ก็ได้รับเสียงวิจารณ์อยู่พอสมควร
                      สามเรื่องสามรสเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในประเทศจีน ที่ผมนำมาเสนอท่านผู้อ่านที่รักในสัปดาห์นี้ เป็นผลมาจากการพูดคุยกับบรรดานักเรียนไทยที่ไปดิ้นรนต่อสู้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยจีน บวกเข้ากับการค้นข้อมูลเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ไม่ได้แปลว่าสถานการณ์ในมหาวิทยาลัยต่างๆของจีนจะเข้มข้นไปเสียทุกแห่ง ทั้งไม่ประสงค์จะทำให้ท่านที่เป็นผู้ปกครองตกอกตกใจ หรือทำให้ใครที่กำลังคิดจะไปเรียนต่อประเทศจีนต้องชะงักเปลี่ยนใจ หากไปเรียนภาษาจีนทั้งเอาปริญญาและไม่เอาปริญญา บรรยากาศจะผ่อนคลายกว่าที่เล่ามามาก เพราะส่วนใหญ่ที่ไปเรียนภาษาจีน ก็ล้วนเป็นชาวต่างชาติทั้งสิ้น หรือหากมองในอีกแง่หนึ่งสำหรับท่านที่ตั้งใจจะส่งบุตรหลานไปจีนเพื่อเรียนสาขาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาจีน การได้อยู่ในบรรยากาศการแข่งขันอย่างเข้มข้นเช่นที่ผมเล่าใส่ไข่มา ก็อาจเป็นเรื่องดี เหมาะแก่การแก้นิสัยชอบชีวิตสบายๆตามใจตัว ช่วยให้เปลี่ยนเป็นคนละคน พร้อมจะสู้ชีวิตในอนาคตได้ไม่น้อยหน้าใคร อันนี้ก็คงต้องแล้วแต่ชอบละครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น