ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เด็กผู้ชายหายไปไหน?

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                  ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวดังจากประเทศจีนมีหลายเรื่องด้วยกัน ใครที่สนใจเรื่องความขัดแย้งระหว่างจีนและญี่ปุ่น ก็คงเฝ้าติดตามว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในแถบหมู่เกาะเตี่ยวหยูไถ(หรือเซ็นโกกุ)หลังจากชาวจีนกลุ่มใหญ่แล่นเรือจากฮ่องกงไปขึ้นบกที่นั่น และถูกทางการญี่ปุ่นจับตัวเนรเทศออกไป สร้างความตึงเครียดในภูมิภาคขึ้นอย่างฉับพลัน แม้ว่ากรณีพิพาททางทะเลแถบนี้จะเรื้อรังมาหลายสิบปีแล้ว ส่วนท่านผู้อ่านที่รักซึ่งสนใจเรื่องสวยๆงามๆมากกว่าเรื่องความขัดแย้ง สัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีข่าวการประกวดมิสเวิลด์ ปรากฏว่านางงามอันดับหนึ่งตกเป็นของสาวจีนเจ้าภาพงานประกวดตามระเบียบ กลายเป็นเรื่องราววิพากษ์วิจารณ์ถึงความโปร่งใส ซุบซิบนินทานอกเวทีไม่แพ้กรณีกีฬาชกมวยในการแข่งขันโอลิมปิกที่ปิดฉากไปก่อนหน้า ใครจะผิดจะถูก ผมก็ไม่มีความสันทัดในเรื่องเหล่านี้ ไม่อยากจะออกความเห็นว่ามิสเวิลด์คนใหม่นี้สวยจริงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆฟันธงได้เลย ก็คือดูเหมือนช่วงนี้ประเทศจีนจะดวงไม่ค่อยดี เจอทั้งปัญหาระหว่างประเทศ เจอทั้งพายุไต้ฝุ่นเข้าน้ำท่วมไปลานหัวเมืองแล้วยังต้องเจอมรสุมปากคนจ้องนินทา เพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ ผมก็เลยคิดว่าต้องหาเรื่องราวอะไรที่มันนอกกระแสสักหน่อยมานำเสนอ ค้นคว้าหาอยู่นานครับ กว่าจะไปเจอเรื่องราวถูกใจดั่งที่จั่วหัวไว้
                ที่ว่าเด็กผู้ชายหายไปไหน ผมไม่ได้หมายความว่าเกิดมีการลักพาตัวเด็กผู้ชายครั้งใหญ่ขึ้นในประเทศจีนนะครับ แต่เป็นการจั่วหัวเพื่อเรียกแขก เรื่องราวจริงควรต้องตั้งชื่อประโยคคำถามว่า นักเรียนชายของจีนหลุดหล่นออกจากการศึกษาภาคบังคับไปอยู่ที่ไหนกัน ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่ผมไปอ่านพบรายงานการศึกษาปัญหาในระบบโรงเรียนของจีนโดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฝึกหัดครูแห่งปักกิ่ง ที่ทำการศึกษาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีค.ศ.2009 งานศึกษาชุดนี้สอดคล้องกับงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในเซี่ยงไฮ้(Shanghai Academy of Social Sciences) เจ้อเจียง(คณะศึกษาศาสตร์และการสอนขั้นสูง) และอู่ฮั่น(ภาควิชาการบริหารงานศึกษา) ก็ได้เคยศึกษาไว้  ปัญหาที่พบคล้ายๆกันก็คือ นักเรียนชายของจีนในทุกช่วงชั้นการศึกษาภาคบังคับ มีสัมฤทธิผลทางการศึกษาต่ำกว่านักเรียนหญิง และนักเรียนชายลดน้อยลงเรื่อยๆเมื่อขึ้นสู่ชั้นเรียนที่สูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยก็ยังพบว่าบรรดาครูอาจารย์ที่อยู่ในวิชาชีพสอนหนังสือเอง ตอนนี้ก็มีครูอาจารย์หญิงมากกว่าชาย แม้ในวิชาพละศึกษาก็มีครูพละหญิงมากกว่า และแนวโน้มก็ยังเดินหน้าเพิ่มขึ้นอีก
                 สถานการณ์ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตการณ์เด็กนักเรียนชาย ปรากฏออกมาในชุดข้อมูล ผลการเรียน ความเครียด สุขภาพอ่อนแอ พฤติกรรมก้าวร้าว จำนวนเด็กซ้ำชั้น และจำนวนเด็กเลิกเรียนกลางครัน ปัญหาหรือวิกฤติเหล่านี้ มีปรากฏให้เห็นเพิ่มมากยิ่งขึ้นตามชั้นปีที่สูงขึ้น กล่าวคือตอนเริ่มต้นในปีที่หนึ่งระดับประถมศึกษาเด็กชายและเด็กหญิงยังคงไม่ได้แตกต่างอะไรกันมากนัก แต่พอขึ้นชั้นมัธยมต้นความแตกต่างในเกือบทุกด้านที่กล่าวมาข้างต้น จะปรากฏให้เห็นชัดเจน และเมื่อเข้าสู่มัธยมปลายเด็กนักเรียนชายจำนวนมากก็จะเริ่มหลุดหายไปจากห้องเรียน สุดแท้แต่จะหายไปเพราะสอบตก สุขภาพมีปัญหา ประพฤติตัวเสียหายสร้างปัญหากับโรงเรียน หรือหายไปเฉยๆเพราะเครียดไม่สามารถเรียนต่อได้  โดยทั่วไปนักเรียนหญิงเริ่มมีความสามารถทางวิชาการเหนือกว่าอย่างเห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ชั้นประถม แต่ตัวเลขเปรียบเทียบจะเริ่มชัดเจมมากขึ้น ในด้านสุขภาพ นักเรียนหญิงก็ทำได้ดีในวิชาพละและกิจกรรมอื่นๆที่ต้องออกไปนอกสถานที่ ในขณะที่เด็กชายมักบ่นว่าเหนื่อย โรคอ้วนก็ปรากฏพบในเด็กนักเรียนชายตั้งแต่ชั้นประถมศึกษามากกว่านักเรียนหญิง ในด้านพฤติกรรมและความประพฤตินักเรียนหญิงก็ปรากฏมีปัญหาน้อยกว่ามาก เด็กนักเรียนชายยังมีปัญหาวุฒิภาวะทางสังคมในการสื่อสารกับผู้คนในช่วงต่างวัย และท้ายที่สุดของผลการศึกษา ปัญหาเด็กวัยเรียนติดเกมวันๆนั่งอยู่หน้าจอคอมฯ ปรากฏว่าร้อยละ68.64เป็นเด็กนักเรียนชาย
                     ผลจาการที่นักเรียนชายหายไปมากเมื่อถึงมัธยมปราย ยังส่งผลต่อเนื่องไปในระดับอุดมศึกษา ตัวเลขล่าสุดของจำนวนผู้สมัครสอบเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย แม้จำนวนผู้สมัครสอบชายจะยังคงมีมากกว่านักศึกษาหญิง แต่จำนวนผู้สมหวังได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยต่างๆของจีนปรากฏว่าผู้หญิงมีจำนวนมากกว่า ในจำนวนทุนการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่รัฐบาลกลางจัดสรรให้กับนักเรียนเรียนดีทั่วประเทศจำนวน 49,983ทุน ปรากฏว่านักศึกษาหญิงกวาดไปเสีย32,616ทุน หรือคิดเป็นร้อยละ65.25  ผลสัมฤทธิ์ในการสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ก็ปรากฏว่านักศึกษาชายสำเร็จการศึกษามากกว่าเวลาที่กำหนดหรือลาออกไปโดยไม่จบการศึกษามากกว่านักศึกษาหญิง
                       อะไรเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหาของเด็กนักเรียนชายในประเทศจีน คำตอบปรากฏจากการศึกษามาหลายสาเหตุด้วยกัน อย่างแรกสุดที่นักวิชาการจีนกล่าวหา(ไม่ใช่ผม) คือระบบการศึกษาจีนมีบุคลากรเป็นสตรีมากเกินไป ทำให้แนวโน้มการจัดการเรียนการสอนเอื้อกับนักเรียนหญิงมากกว่านักเรียนชาย ที่จริงเด็กนักเรียนชายไม่ได้โง่กว่า แต่ต้องการการจัดบรรยากาศการเรียนการสอนที่เอื้อต่อพัฒนาการของเด็กผู้ชายที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากเด็กนักเรียนหญิง ดีไม่ดีอาจต้องจัดห้องเรียนชายล้วนแบบที่กำลังจะทดลองทำในเซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้นักวิชาการอีกกลุ่มยังเชื่อว่าปัจจัยหลักต่อปัญหาของนักเรียนชาย คือสภาพแวดล้อมทางครอบครัวที่ได้รับการเอาอกเอาใจมากเป็นพิเศษกว่านักเรียนหญิง ทั้งพ่อแม่ ปูย่า ตายาย ต่างพากันเอาอกเอาใจจนนิสัยเสีย เข้าสังคมไม่ได้ เกลียดคร้าน ไม่มีแรงจูงใจที่ชัดเจนในชีวิต ขาดสมาธิและความมุ่งมั่น ครั้นพอเติบโตขึ้นในวัยเรียนมหาวิทยาลัย กลับถูกสมาชิกในครอบครัวตั้งความคาดหวังต่างๆนาๆ เกินกว่าที่จะสามารถแบกรับได้ กลายเป็นความเครียดและส่งผลต่อการศึกษา หลายคนตัดสินใจเลิกเรียนเพื่อหางานหาเงิน หรือหาทางรวยลัดตามที่ครอบครัวตั้งความหวังกับลูกชาย ข้อเสียทั้งหมดนี้ไม่เกิดกับเด็กนักเรียนหญิง ในทางตรงข้าม เพราะการที่ครอบครัวไม่ใส่ใจหรือเอาใจเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับครอบครัวที่มีลูกชาย ทำให้เด็กนักเรียนหญิงต้องต่อสู้พิสูจน์ฯสถานะด้วยการตั้งใจเรียน เล่นกีฬาเก่ง ทำคะแนนสูง สอบเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังฯลฯ เพื่อเป็นการสร้างตัวตนให้พ่อแม่ญาติพี่น้องภูมิอกภูมิใจที่มีลูกสาว
                   มาถึงบรรทัดสุดท้ายนี้ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่รักหลายท่าน อาจกำลังหันกลับมามองปัญหาเด็กผู้ชายเมืองไทย ว่าที่ไล่ยิงไล่ฟันกันอยู่ทุกวันนี้ มันเรื่องอะไรกันแน่ ดีไม่ดีอาจต้องกลับมาคิดหาคำถามที่ถูกต้องกับคำตอบมากกว่าที่อธิบายกันอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น