ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

โดย รศ.พรชัย  ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
            ช่วงระยะเวลาร่วมเดือนที่ผ่านมา ผมเห็นข่าวสารที่เกี่ยวกับข้อห่วงใยเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage of Humanity) ปรากฏเป็นข่าวต่อเนื่องอยู่ระยะหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องประเทศเพื่อนบ้านเอาท่ารำท่าจีบ ไปขึ้นทะเบียนกับ UNESCO หรือเลยเถิดลุกลามไปถึงข้อเสนอให้ประเทศไทยรีบไปขึ้นทะเบียนกะปิ น้ำปลา และอื่นๆ ก่อนที่อาจจะมีใครชิงไปจดทะเบียนตัดหน้าเรา แม้แต่รัฐมนตรีใหม่ที่เพิ่งจะเข้ามารับผิดชอบกระทรวงวัฒนธรรมฯ ก็พลอยโดนนักข่าวรุมสัมภาษณ์ว่าจะมีนโยบายในเรื่องมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้อย่างไรบ้าง รับน้องใหม่ท่านรัฐมนตรีหญิงเสียมึนไปเลย กว่าจะตั้งหลักได้ก็อีกหลายวัน น่าเห็นใจท่านรัฐมนตรีฯเป็นอย่างยิ่ง ว่าที่จริงแล้วคงต้องพูดว่าน่าเห็นใจคนไทยโดยรวมทั้งประเทศ ที่อยู่ๆ ก็เกิดข่าวตื่นตระหนกทำนองเช่นนี้ โดยไม่ทันได้ตั้งตัวศึกษา หรือมีความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนว่า การขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นี้คืออะไร พอมีข่าวว่ากัมพูชาอย่างนี้ กัมพูชาอย่างนั้น ก็เลยแตกตื่นตกใจไปเกินเหตุ
            ร่ายยาวเกริ่นเรื่องมาข้างต้นนี้ ก็เพราะกำลังจะชวนท่านผู้อ่าน คุยเรื่องเกี่ยวกับการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมในประเทศจีน เพราะเมื่อสองวันที่ผ่านมานี้ จีนเพิ่งประกาศแก่สาธารณชนว่าได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจีนต่อ UNESCO เรียบร้อย 28 รายการ จากทั้งหมด 870,000 รายการ ที่ทางการจีนได้รวบรวมเอาไว้ก่อนหน้านี้ เห็นตัวเลขชุดหลังแล้วก็อย่าเพิ่งตกใจว่าผมพิมพ์ผิดนะครับ ตามข่าว 870,000 รายการจริงๆ ครับ แรกๆ ผมก็เข้าใจว่าเอกสารของจีนพิมพ์ผิด แต่พอเข้าไปค้นดูในเว็บไซต์ของสถาบันศึกษาวัฒนธรรมชนชาติแห่งสภาวิจัยฯจีน และของกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็พบว่า มีเป็นแสนรายการจริง (เว็บไซต์ของกรมกิจการวัฒนธรรมบอกว่ามี 890,000 รายการ) อีกทั้งยังต้องตกใจเมื่อเห็นข้อมูลว่าประเทศจีนเอาจริงเอาจังกับเรื่องเหล่านี้อย่างยิ่ง และก็ไม่ใช่เพิ่งจะมาเอาจริงเอาจังเมื่อองค์กร UNESCO ลุกขึ้นมาประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จนพัฒนามาถึงขั้นการเชิญชวนให้ชาติต่างๆ มาขึ้นทะเบียน List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity ในความเป็นจริง รายการมรดกทางวัฒนธรรมทั้งที่ปรากฏเป็นรูปธรรมและนามธรรมนับแสนๆ รายการ รัฐบาลจีนได้ริเริ่มสำรวจและจัดทำบัญชีเองมาแล้วเกือบ 30 ปี นอกจากทำการสำรวจวิจัยทำบัญชีแยกแยะเป็นประเภทต่างๆ ไว้ชัดเจนแล้ว ในช่วงปี 2005-2009 รัฐบาลกลางยังได้สั่งให้มีการชำระบัญชีของเดิมใหม่อีกรอบพร้อมๆ กับวิจัยเพิ่มเติมรายการใหม่ๆ ในคราวนั้น ได้พัฒนาขึ้นอีกระดับ ด้วยการบันทึกเป็นเสียง เป็นภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว ทำคู่มืออธิบายประวัติฯความเป็นมาของแต่ละรายการบันทึกเป็นหลักฐานเอาไว้ และเผยแพร่ให้การศึกษา แก่สาธารณชนของจีนเป็นระยะๆ มีทั้งเว็บไซต์ภาษาจีนและภาษอังกฤษครบ ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยังตรากฎหมายว่าด้วยการปกป้องและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยระบุไว้ชัดเจนว่า เพื่อคุ้มครองไม่ให้ภูมิปัญญาทางทัศนศิลป์ วรรณคดี ภาษา คติชนวิทยา และวิทยาศาสตร์ ที่มีรากฐานจากประวัติศาสตร์ของชนชาติจีนสูญหายหรือถูกหลงลืมไป โดยกำหนดให้รัฐบาลกลางและท้องถิ่นในระดับต่างๆ มีหน้าที่โดยตรงในการอนุรักษ์ทำนุบำรุงไว้ ผมค้นข้อมูลไป อ่านไป ก็รู้สึกขนลุก ว่าเขาเอาจริงเอาจังทำกันถึงขนาดนั้นเลยทีเดียว
                   สาเหตุที่ประเทศจีนให้ความสำคัญกับเรื่องดังที่กล่าวมานี้ เดิมผมก็คิดเอาเองว่า คงหวังจะสร้างกระแสการท่องเที่ยว แต่พอลองสำรวจดูเอกสารงานวิจัยศึกษาต่างๆ ที่มี ทำให้เข้าใจได้ในความจำเป็นเร่งด่วนที่จีนลุกขึ้นมาเป็นห่วงเป็นใยและถึงขั้นต้องออกกฎหมายอรุรักษ์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่กำลังเจริญเติบโตไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงในสังคมจีน ทำให้ภูมิปัญญาและมรดกของชาติจำนวนมากตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกคุกคามจนอาจสูญหายไปได้ในเวลาอันรวดเร็ว เฉพาะที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิต ผลการศึกษาบางชิ้นชี้ให้เห็นว่า อาชีพดั่งเดิมที่เป็นภูมิปัญญาโบราณกว่า 350 รายการกำลังจะสูญหายไปจากสังคมจีน เพราะถูกแทนที่ด้วยวิธีการผลิตแบบใหม่ที่ใช้เครื่องจักร หรือมิเช่นนั้นก็สูญหายไปเฉยๆ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่ซื้อหามาใช้ เพราะไม่รู้สึกว่าสินค้าเหล่านั้นทันสมัยพอ ตัวอย่างเช่น อาชีพทำขนมแบบดั้งเดิมนับสิบนับร้อยชนิด สินค้าหัตถกรรมที่ครั้งหนึ่งเคยใช้ประดับบ้านเรือน ตอนนี้ก็แทบหาคนซื้อมาใช้ไม่ได้ เพราะในชีวิตจริงลำบากเต็มที จะมีก็นักท่องเที่ยวต่างชาติบางกลุ่มที่สนใจซื้อหา นอกจากสินค้าและอาหารแล้ว การละเล่นและศิลปะการแสดงท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์มากกว่า 400รายการ ตามชนบทของจีน ก็ตกอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ เพราะหาผู้สืบทอดไม่ได้ วัยรุ่นและคนรุ่นยุคใหม่ไม่สนใจความบันเทิงแบบโบราณ เพราะมีสื่อบันเทิงสมัยใหม่ที่มีอำนาจทางการตลาดมหาศาลเข้ามาแย่งชิงพื้นที่  เทคโนโลยีพื้นบ้านอีกจำนวนเป็นร้อยเป็นพันรายการที่เกี่ยวข้องผูกพันกับเอกลักษณ์ท้องถิ่น ก็กำลังถูกลืมเลือนและแทนที่ด้วยวิถีชีวิตแบบเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แม้แต่การแพทย์แผนจีนที่ว่าโด่งดัง ในบางสาขาย่อย ก็เริ่มสูญหายแล้ว เพราะไม่มีผู้รู้จะสืบทอด
           มรดกทางวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ เป็นประเด็นที่สังคมโลกและมนุษยชาติโดยรวมต้องร่วมกันดูแล ไม่ใช่เพราะมันเป็นของเรา หรือเพราะมันสะท้อนความยิ่งใหญ่ของชนชาติใดชนชาติหนึ่ง แต่เพราะว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์พัฒนาการของมนุษยชาติโดยรวม เป็นภูมิปัญญาที่บ่งบอกความเป็นมนุษย์ โดยไม่แบ่งแยกด้วยอคติ หรือชาตินิยมแบบหลับหูหลับตา ใครจะขึ้นทะเบียนท่ารำอะไรอย่างไร ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราและลูกหลานต่อๆ ไปในอนาคต ยังจะรู้จักซึมซับรับรู้ถึงความงดงามแห่งท่วงท่านาฏลีลาที่ถ่ายทอดผ่านเส้นสายของประวัติศาสตร์จากอดีตถึงปัจจุบันได้มากน้อยแค่ไหน

1 ความคิดเห็น:

  1. ขออนุญาตเรียนถามคะ พอทราบรูปแบบการขึ้นบัญชีรายการของจีนไหมคะว่ามีระดับไหนบ้างในประเทศ ที่รู้คือรายการที่ขึ้นกับยูเนสโกแล้วมี 40 รายการคะ แต่อยากทราบในประเทศมีระดับใดบ้างอะคะ

    ตอบลบ