ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กลับบ้านฉลองตรุษจีน

 
โดย รศ. พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


                 หากกล่าวถึงเทศกาลตรุษจีนจากประสบการณ์ของคนไทยหรือคนไทยเชื้อสายจีนในบ้านเรา ก็มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงมาตามยุคตามสมัย จากที่ยุคสมัยหนึ่ง ร้านรวงหยุดกิจการเงียบเหงาไปทั้งบ้านทั้งเมือง  เป็นเทศกาลหยุดงานยาวนานที่สุดของปี สำหรับภาคเอกชน  แต่มาถึงปัจจุบัน ตรุษจีนอาจลดความสำคัญลงในฐานะเทศกาลที่มีผลต่อธุรกิจการค้าหากเทียบกับเทศกาลสงกรานต์ ที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐให้กลายเป็นวันครอบครัว และมักมีมติคณะรัฐมนตรีให้เพิ่มวันหยุดแถมต่อหัวต่อท้ายเพิ่มเติมอยู่เสมอๆนัยว่าส่งเสริมการท่องเที่ยว  เลยทำให้เทศกาลสงกรานต์กลายเป็นช่วงหยุดยาวแห่งชาติโดยปริยาย
                 ในประเทศจีนเองก็เช่นกัน  ในยุคโบราณเทศกาลงานฉลองตรุษจีนอย่างต่ำสุดใช้เวลาต่อเนื่องถึง15 วัน นับแต่วันสงท้ายปีเก่ายาวไปถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือนหนึ่งจีน ชนกับเทศกาลแรกของปีคือเทศกาลหยวนเซียว ครั้นมาถึงยุคจีนใหม่(คอมมิวนีสต์)  แม้ตรุษจีนยังคงถือเป็นเทศกาลหลักของชาติ แต่บรรดาพิธีกรรมต่างๆในรายละเอียด ก็ถูกละเลยไปมาก ยิ่งในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม  ตรุษจีนถูกกระทำในทางการเมืองให้เป็นพิธีการมากกว่าจะเป็นพิธีกรรมตามความเชื่อในวัฒนธรรมเดิมของจีน  เทศกาลตรุษจีนเป็น 1 ในเทศกาลที่มีการหยุดพักผ่อนยาวสิบวัน เช่นเดียวกับวันแรงงาน และวันชาติ 1 ตุลาคม มาถึงยุคปัจจุบัน เฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการปฏิรูปเปิดกว้างให้มีการพัฒนาแบบสมัยใหม่ เทศกาลตรุษจีนก็ดูจะคึกคักมากขึ้น  คล้ายๆกับการพัฒนาในหลายประเทศ จีนเองก็เริ่มผ่อนปรนให้มีแรงงานอพยพออกทำงานต่างมณฑลมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้แทบเป็นไปไม่ได้ภายใต้การผลิตแบบคอมมูนเดิม เทศกาลตรุษจีนก็เพิ่มความสำคัญในฐานะเกือบๆจะเป็นวันครอบครัว เพราะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต่างคาดหวังว่าจะได้กลับบ้านไปร่วมฉลองรับปีใหม่พร้อมหน้าพร้อมตากัน อย่างน้อยก็หยุดยาวสิบวันอยู่กับครอบครัวพ่อแม่  ยิ่งคนที่ทำงานหากินต่างถิ่นไกลบ้านเกิด ก็จะยิ่งตั้งตาคอยมากเป็นพิเศษ
                 แต่มาถึงทุกวันนี้  เรื่องราวการกลับบ้านเพื่อฉลองตรุษจีน ไม่ใช่เรื่องสนุกที่ตั้งตาคอยสำหรับคนทุกกลุ่มในสังคมจีนเสียแล้ว มีรายงานข่าวปรากฏในหนังสือพิมพ์จีนหลายฉบับ  และเป็นประเด็นสนทนาบนอินเตอร์เน็ทจีน สะท้อนภาพปัญหาและความหนักใจของหนุ่มสาวจีนจำนวนมาก ตัวอย่างหนึ่งที่มีการโพสต์ลงบนอินเตอร์เน็ท ได้แก่ จดหมายสารภาพถึงพ่อ ซึ่งได้รับการกล่าวขานและแสดงความคิดเห็นมากที่สุดประเด็นหนึ่งในโลกอินเตอร์เน็ทของจีน เนื้อความในจดหมาย พรรณนาว่า ตัวเองสู้อุตสาห์เรียนจนจบมหาวิทยาลัย ทุมเทกว่าจะหางานทำในเมืองได้ก็เกือบปี บัดนี้มีงานทำมาได้กว่าหกเดือนแล้ว แต่เงินเดือนที่ได้เพียงแค่พันกว่าหยวนต่อเดือน  น้อยกว่าเงินเดือนกรรมกรของพ่อที่เป็นแรงงานอพยพทำงานก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายแค่เดือนชนเดือนก็แสนลำบาก  เขารู้สึกละอายใจที่ทำให้ครอบครัวต้องผิดหวัง ไม่มีหน้าจะกลับบ้านไปฉลองปีใหม่กับพ่อและแม่ ทันทีที่จดหมายฉบับนี้เผยแพร่บนอินเตอร์เน็ท ก็มีคนหนุ่มสาวมากมาย แห่เข้าไปให้กำลังใจกับเจ้าของจดหมาย  พร้อมทั้งสนับสนุนให้กับบ้านไปหาพ่อแม่ ไม่ว่าจะมีเงินหรือไม่ก็ตาม อีกทั้งยังเล่าชีวิตส่วนตัวว่าพวกเราหนุ่มสาวที่ทำงานหลังเรียนจบก็เป็นแบบเดียวกัน บางคนต้องโกหกครอบครัวมาโดยตลอด ว่าได้งานดีเงินดีชีวิตมีความสุขมาก แต่กลับบ้านช่วงตรุษจีนไม่ได้เพราะต้องทำงานพิเศษหาเงินเพิ่ม บ้างก็ต้องโกหกพ่อแม่ว่าบริษัทมียอดขายสินค้าส่งออกเพิ่ม จำเป็นต้องอยู่ทำงานเพิ่มผลผลิตสินค้าฯลฯ  สารพัดข้อแก้ตัวที่จะไม่กลับบ้านไปฉลองตรุษจีน



                 การที่บัณฑิตใหม่ทำงานได้เงินเดือนน้อย อาจดูเป็นเรื่องสวนกระแสอยู่พอสมควร  เพราะเมื่อไม่นานมานี้เองเพิ่งจะมีการสำรวจเงินเดือนเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของรัฐวิสาหกิจจีนเมื่อต้นปี2010  พบว่าเงินเดือนโดยเฉลี่ยมากกว่า 600,000 หยวนต่อปี เพิ่มจากค่าเฉลี่ย 550,000 หยวนในปีที่แล้ว จะว่ามากก็มาก จะว่าน้อยก็พูดได้ อยู่ที่จะเปรียบเทียบกับใครประเทศไหน  แต่สำหรับเด็กจบใหม่ โดยเฉพาะสำเร็จจากมหาวิทยาลัย  ความคาดหวังทั้งของพ่อแม่และตัวบัณฑิตเอง  กลับตรงข้ามกับชีวิตจริงของตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูง ในบรรดาบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2009 จำนวน 6.11 ล้านคน มีเพียง 4.15 ล้านคนที่สามารถหางานทำได้ภายในหกเดือน  เท่ากับร้อยละ 68  ในขณะที่ปี 2008 มีบัณฑิตหางานทำได้ 4.05ล้านคนจากบัณฑิตใหม่ 5.59 ล้านคน ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าตัวเลขเด็กใหม่ที่ยังหางานไม่ได้ในปีที่สำเร็จการศึกษา  จะพอกทบเข้าไปแข่งขันหางานร่วมกับบัณฑิตรุ่นน้องที่สำเร็จการศึกษาในปีถัดไป  จำนวนบัณฑิตที่ผลิตเพิ่มขึ้นทุกปี  กับตำแหน่งงานที่อาจไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่เท่ากัน สะท้อนภาพอะไรหลายอย่าง ซึ่งคงกลายเป็นประเด็นปัญหาทางสังคมที่ผู้บริหารระดับสูงของจีนจะต้องปวดหัวหาทางแก้ไข แต่ที่แน่ๆ ตรุษจีนปีที่จะถึงนี้ หนุ่มสาววัยทำงานของจีนจำนวนมาก จะไม่ได้กลับบ้านไปฉลองปีใหม่กับพ่อแม่  หลายครอบครัวคงต้องเหงาใจอ่านจดหมายแก้ตัว(โกหก)ของลูก



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น