ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ชุมชนแห่งความรู้ด้านจีนศึกษา


ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ชุมชนวิชาการจีนศึกษา

ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษานี้ นอกจากจะมุ่งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันกับความจำเป็น และความต้องการของประเทศ ทั้งในแวดวงวิชาการชั้นสูงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการบูรณาการความรู้ เพื่อวางแผนการพัฒนาประเทศ "ชุดโครงการวิจัยจีนศึกษา" จึงเป็นการมุ่งเปิดมุมมองการศึกษา เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในชนบทจีน ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม กระบวนการ นคราภิวัตร คู่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบทของจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจ และ การปรับตัวของทั้งเมือง ต่อชนบท และทั้งของชนบทต่อเมือง อันเป็นผลพวงจาก นโยบายปฏิรูปเปิดกว้างของรัฐบาลจีนในช่วงเกือบ30ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งยังได้รับความสนใจศึกษาทางวิชาการไม่มากนัก ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากการดำเนินนโยบายต่อภาคการเกษตรและการพัฒนาชนบทของจีนที่เกิดขึ้น การลงทุนภาคเกษตรของจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและชนบทในภูมิภาคใกล้เคียง ในหลายกรณี การขยายตัวของสินค้าเกษตรส่งออกของจีน นโยบายแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำภาคเกษตร ในจีน ได้ส่งผลโดยตรงแล้วต่อเกษตรกรไทย ทั้งในเรื่องการตลาด ของสินค้าเกษตร ที่ทุ่มตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อน และสุขภาวะของชนบทไทยโดยรวม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งทำการศึกษาและทำความเข้าใจ

วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สุสานโจโฉ

โดย รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์
สาขามานุษยวิทยา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

             

          การค้นพบสุสานมหาอุปราชโจโฉตัวเอกสำคัญในวรรณคดีคลาสสิก “สามก๊ก เป็นข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศจีนและได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักโบราณคดี คนในแวดวรรณกรรม และบุคคลทั่วไป  โจโฉเป็นใคร สำคัญอย่างไร คงไม่ต้องบอก เพราะคนไทยเรารู้จักกันดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจากหนังสือพงศาวดารแปล หรือจากดีวีดีละครทีวีชุดยาวที่เข้ามาขายอยู่มากมายหลายเวอร์ชั่น
               อันที่จริง ในหมู่นักโบราณคดีทั้งของจีนและต่างชาติบางส่วน มีข่าวเล็ดลอดมาตั้งแต่กลางปี 2552 ว่าจะมีข่าวการค้นพบใหญ่เกี่ยวกับโจโฉ  นักวิชาการและสื่อมวลชนจีนสายศิลปวัฒนธรรมที่ได้ข่าว ต่างก็ยังไม่ปักใจเชื่อ เพราะเป็นที่ทราบกันในแวดวงประวัติศาสตร์และโบราณคดีจีนมานานแล้ว ว่าท่านมหาอุปราชโจโฉ แกเล่นทำสุสานทั้งจริงทั้งหลอกไว้ตั้ง๗๒แห่ง นัยว่าเพื่อป้องกันโจรปล้นสุสานไม่ให้พบและทำลายสุสานจริงได้โดยง่าย  แม้จะไม่มีใครรู้เป็นแน่ชัดว่าท่านมหาอุปราชทุ่มทุนสร้างสุสานปลอมๆไว้มากมายขนาดไหน  แต่บันทึกประวัติศาสตร์และตำนานที่ถ่ายทอดบอกต่อกันมาในชั้นหลังก็ทำให้เชื่อกันโดยทั่วไปทั้งชาวบ้านและนักวิชาการ ว่ามีสุสานหลอกๆ สร้างไว้ในนามของท่านมหาอุปราชอยู่เยอะมาก  ฉะนั้นการที่มีข่าวเล็ดลอดว่าเจอสุสานโจโฉ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องฟังหูไว้หู  อย่างไรก็ดี พอล่วงเข้าเดือนตุลาคมข่าวเกี่ยวกับสุสานโจโฉก็เริ่มหนาหูมากขึ้น จนชาวบ้านทั่วไปก็รับรู้ ร้ายไปกว่านั้นยังมีข่าวว่าชาวบ้านบางส่วนที่มีข้อมูลภายใน พากันไปขุดคุ้ยหาของโบราณ ทำนองว่าแอบปล้นสุสาน  จนในที่สุดเจ้าหน้าที่และหน่วยงานโบราณคดีมณฑลเหอหนานต้องออกมาแถลงข่าวในวันที่ 27 ธันวาคม ว่าได้มีการค้นพบสุสานขนาดใหญ่พร้อมด้วยโครงกระดูกมนุษย์ 4 โครง เป็นชายสูงอายุหนึ่งโครง และหญิงสามโครง รวมทั้งหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก ที่เมืองอันหยาง มณฑลเหอหนาน จากหลักฐานทางโบราณคดีและแผ่นจารึก เชื่อว่าเป็นสุสานจริงของมหาอุปราชโจโฉในยุคสมัยสามก๊ก  พร้อมๆกันการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการของเจ้าหน้าที่รัฐ  ทหารและตำรวจจำนวนหนึ่งได้เข้าควบคุมแหล่งขุดค้นดังกล่าวอย่างเข้มงวด  แต่เรื่องก็ยังไม่จบดี เพราะมีมือดีแอบโพสต์ข้อความลงในอินเตอร์เน็ทว่าหลักฐานหลายชิ้นที่ระบุว่าเป็นสุสานจริงของโจโฉเช่นป้ายดินเผาชื่อโจโฉ เป็นของที่พวกโจรขุดสุสานไปแอบซุกไว้ แม้เป็นของเก่าจริงแต่ก็ไม่ใช่ของแท้ในแหล่งขุดค้น  นักวิชาการและนักโบราณคดีอิสระจำนวนมากที่มีแนวโน้มไม่ยอมเชื่อแต่แรกว่าเป็นสุสานจริง  ก็ออกมาร่วมผสมโรงยกเหตุผลต่างๆในบันทึกประวัติศาสตร์และตำนานมาคัดค้านว่าสุสานที่แท้จริงของโจโฉไม่น่าจะอยู่ที่เมืองอันหยาง แต่น่าจะเป็นจุดอื่นในมณฑลเหอหนานบริเวณใกล้นครเจิ้งโจวอันเป็นเมืองเอกของมณฑล  ร้อนถึงผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของสภาสังคมศาสตร์แห่งชาติ  ต้องออกมาแถลงรับรองที่ปักกิ่ง  รวมทั้งผู้อำนวยการสำนักโบราณคดีและมรดกทางวัฒนธรรม ก็ต้องออกมาชี้แจงเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของหลักฐานทางโบราณคดี รวมทั้งความเป็นไปได้ที่โครงกระดูกเพศชายที่ขุดพบในสุสานจะเป็นโครงกระดูกของโจโฉเอง  ข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อนก็ค่อยๆทยอยโผล่มาที่ละเล็กละน้อย เช่นมีการยอมรับว่าได้เริ่มต้นการขุดค้นมาตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2551 สืบเนื่องจากการที่มีโจรลักลอบขุดสุสานนำแผ่นจารึกดินเผาไปขายในตลาดค้าของเก่า  และกระตุ้นให้เกิดกระแสล่าขุมสมบัติโจโฉขึ้นในหมู่โจรปล้นสุสาน อันเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของมณฑลและนักโบราณคดีติดตามร่องรอยได้  จนแม้ทุกวันนี้ข้ามปีแล้วข่าวเกี่ยวกับเบื้องลึกเบื้องหลังการค้นพบสุสานก็ยังไม่จบ ยังไม่นับบรรดากระทู้ในเว็บไซต์จีน ที่มีทั้งเห็นด้วยบ้าง ไม่เชื่อบ้าง อีกมากมายบานเบอะ จนทางการจีนและสำนักข่าวจีนหลายแห่งต้องเปิดเว็บไซต์ให้ข้อมูลกันเป็นการเฉพาะทำท่าจะเป็นมหากาพย์เรื่องยาวไม่แพ้พงศาวดารสามก๊ก
           
            
          ที่ผมเอาเรื่องสุสานโจโฉมาเล่าต่อนี้ ก็เพราะอยากจะชี้ให้เห็นว่าประเทศจีนในเวลานี้ ตื่นตัวกันมากในเรื่องประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวัฒนธรรม ทั้งในฝ่ายราชการและประชาชนทั่วไป ยิ่งกว่านั้นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์จำนวนมากก็ยังถูกพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เกิดเป็นอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมที่ต่อยอดได้อีกมาก  อย่างสุสานโจโฉที่ว่ามานี้  ผมรับรองได้เลยว่าไม่เกินสองหรือสามปีต่อแต่นี้  จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ของมณฑลเหอหนานนอกเหนือไปจากวัดเส้าหลิน ถ่ำหลงเหมิน เมืองลั่วหยาง เมืองไคเฟิงฯลฯ   ป้ายชื่อโจโฉ แผ่นดินเผาจารึก รวมทั้งหมอนกระเบื้องหนุนนอนของโจโฉ คงทยอยกลายเป็นสินค้าท่องเที่ยวไปด้วย  แบบเดียวกับที่เป็นมาแล้วในกรณีสุสาน จิ๋นซี ที่ซีอาน  ทั้งหมดนี้เล่าให้ฟังเฉยๆ ไม่ได้มีเจตนาจะเทียบเคียงกับใครหรือประเทศไหนหรอกครับ


1 ความคิดเห็น:

  1. น่าสนใจมากเลยครับ ผมสนใจเรื่องสามก๊กมานานไม่ว่าจะเป็นการถูกบังคับให้อ่านตั้งแต่เรียนมัธยม ดูในทีวีทั้งในตอนกลางวันและกลางคืนทุก ๆ อาทิตย์ที่ช่องห้าบ้างช่องสิบเอ็ดบ้างฉายให้ดู ยอมจ่ายตังค์ค่าตั๋วหนังไปดูในโรงหนังที่ทำเ็ป็นตอน ๆ ในช่วง 5 ปีหลัง และที่ชอบที่สุดคือการวิเคราะห์ในฉบับนักบริหารของ ศ.เจริญ วรรธนะสิน ขนาดไฟล์ 80 กว่า GB ก็ยอมให้กินเนื้อที่ใน HD เปิดดูกี่ครั้งก็ไม่เคยเบื่อ แต่ที่ติดตามมาเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตทั้งสิ้นครับ บทความนี้ทำให้ทราบว่า ตัวละครเอก "โจโฉ" มีอยู่จริง ๆ และยังไม่ได้ไปไหนแม้เวลาจะผ่านมาเกือบสองพันปี ไปเหอหนานเร็ว ๆ นี้ไม่แน่ครับว่าอาจจะได้มีโอกาสคุยกับท่านมหาอุปราชก็เป็นได้ อยากทราบความเห็นท่านครับเกี่ยวกับ "การพัฒนาอุตสาหกรรมในจีัน" ไม่ทราบว่าท่านคิดอ่านการณ์นี้อย่างไร?? ผมจะได้ใส่ไว้ในรายงาน... เฉิงไหล//

    ตอบลบ